เปิดตัว All-New Ford Ranger โฉมใหม่ครั้งแรกในอาเซียน ก่อนเริ่มจำหน่ายในไทยปลายปีนี้ Share this
รถเปิดตัวใหม่
โหมดการอ่าน

เปิดตัว All-New Ford Ranger โฉมใหม่ครั้งแรกในอาเซียน ก่อนเริ่มจำหน่ายในไทยปลายปีนี้

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 24 March 2554

อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับขาประจำ AutoSpinn เพราะเราได้เคยนำเอาภาพพร้อมรายละเอียดของ All-New Ford Ranger มาให้ชมอย่างจุใจไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจากการเปิดตัวในประเทศออสเตรเลีย แต่ในที่สุด Ford ประเทศไทยก็ได้เผยโฉม Ranger เจนเนอเรชั่นใหม่อย่างเป็นทางการในวันนี้ ก่อนที่จะเปิดให้ชาวไทยได้สัมผัสใกล้ๆที่งาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 32 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคมนี้ และแม้ว่าจะเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายทั่วโลก 180 ประเทศ ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป แต่ Ford ประเทศไทยเตรียมทำตลาดกระบะสุดเท่รุ่นนี้ในปลายปี ท้ายข่าวเราได้นำคลิปวิดีโอการแนะนำ All-New Ranger โดย Ford มาให้ชมด้วยแบบจุใจ 3 คลิปครับ

Ford ประเทศไทย เปิดตัว All-New Ford Ranger เจนเเนอเรชั่นล่าสุด ให้แขกวีไอพีและสื่อมวลชน ได้ชมก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 32 โดยเป็นการโชว์โฉมครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยบูธ Ford ในปีนี้ จะมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีอุปกรณ์ในการจัดแสดงที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถร่วมสนุกได้มากที่สุด เท่าที่ Ford เคยจัดขึ้นในประเทศไทย และสิ่งที่ Ford เชื่อว่าจะเรียกความสนใจจากผู้เข้าชมงานได้อย่างล้นหลาม ได้แก่ พรีเซ็นเตอร์โรบ็อต, มินิเธียร์เตอร์ 3 มิติ, เครื่องจำลองการขับ Ranger ใหม่ แบบเสมือนจริง (Driving Simulator), วิดีโอเกมจำลองการขับขี่อย่างปลอดภัย และเกมท้าประลองความสามารถในการลากจูง เป็นต้น

Ford Ranger ใหม่ เผยโฉมครั้งแรกที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และการเผยโฉมในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง Ford คาดว่า Ranger จะเป็นรถที่มีความโดดเด่น และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน

"เราใช้งาน บางกอก มอเตอร์โชว์ เป็นเวทีในการเปิดตัว Ford Ranger ใหม่ ครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดย Ranger ใหม่ จะได้รับการผลิตในประเทศไทย" มร. ปีเตอร์ ฟลีท (Peter Fleet) ประธาน Ford อาเซียน กล่าว "เรายังได้ใช้โอกาสนี้ ในการนำเสนออุปกรณ์ในการจัดแสดงระดับโลก ภายในบูธ Ford ที่ผู้เข้าชมงานจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ Ford และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงความมุ่งมั่นที่Fordมีต่อประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน"

นอกจากการผลิตในประเทศไทยแล้ว Ranger ยังจะได้รับการผลิตในแอฟริกาใต้ และอาร์เจนติน่า เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดย Ranger ถือเป็นรถกระบะคันแรก ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการทำงานภายใต้กลยุทธ์ One Ford

"Ranger เป็นรถที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร" มร. แกรี่ โบส์ (Gary Boes) ผู้อำนวยการสายการผลิตรถกระบะขนาดคอมแพ็คระดับโลกของ Ford กล่าว "สิ่งที่ทำให้Rangerแตกต่างจากรถอื่นๆ คือ คุณสมบัติที่เพียบพร้อม ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถกระบะได้อย่างรอบด้าน และยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องลดทอนส่วนใดส่วนหนึ่งลงไป ลูกค้าที่เป็นเจ้าของ Ford Ranger ใหม่ จึงไม่ได้เป็นเจ้าของสมรรถนะในการลากจูง การบรรทุกน้ำหนัก และการลุยน้ำที่เหนือชั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของรถกระบะที่ประหยัดน้ำมัน ห้องโดยสารที่สะดวกสบาย และเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย"

Ford ติดตั้งระบบจัดการแบตเตอรี่ไห้กับ Ranger เป็นครั้งแรก เพื่อช่วยให้รถสามารถประหยัดน้ำมันมากที่สุดในการใช้งานจริง โดยระบบ Smart Regenerative Charging จะเพิ่มการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ในขณะผู้ขับขี่ถอนคันเร่งหรือเหยียบเบรก พลังงานจากการขับเคลื่อนรถ จะได้รับการแปลงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้น้ำมันเพิ่มเติม กระแสไฟฟ้าที่ได้มาแบบฟรีๆ นี้ จะถูกนำกลับมาใช้ในการชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อสำรองไว้ใช้กับระบบไฟฟ้าของรถในภายหลัง

รูปลักษณ์ภายนอก

เรน เจอร์ มากับขนาดความยาว 5,359 มม. กว้าง 1,850 มม. บึกบึนมากขึ้น แต่แฝงความสปอร์ตด้วยล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว แร็คหลังคา และโครงหลังคาด้านหลัง (Hoop) ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นรถที่สามารถขับขี่ไปบนถนนแคบๆ และบังคับทิศทางเพื่อเข้าจอดได้อย่างง่ายดาย พวงมาลัยที่มีระยะหมุนสุดล๊อคชนล๊อคไม่เกิน 3.5 รอบ

Ford ยกขอบกระบะให้สูงขึ้น เพิ่มพื้นที่เก็บให้ลึกมากขึ้น สำหรับรุ่นตัวถังแบบธรรมดา และแบบ โอเพ่นแค็บ มีขนาดพื้นที่บรรทุกของด้านหลังใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน ที่ 1.85 ลูกบาศก์เมตร และ 1.45 ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ขณะที่รุ่น ดับเบิ้ลแค็บ มีขนาดความจุ 1.21 ลูกบาศก์เมตร ซุ้มล้อของกระบะท้ายได้รับการขยายให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับการวางสิ่งของที่มีความยาวตลอดแนวกระบะ บรรทุกแผ่นไม้ หรือแผ่นยิปซั่มได้สะดวก

ห้องโดยสาร

Ford ให้ความสำคัญต่อการใช้พื้นที่ทุกมิลลิเมตร ในการเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสารให้มีความกว้างขวางมากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เก็บของท้ายรถ โดยเฉพาะความสบายของเบาะนั่งด้านหลัง โดยเบาะแถวที่ 2 ของรุ่น โอเพ่นแค็บ มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งหลักๆ ในตลาดทั้งสิ้น ส่วนรุ่น ดับเบิ้ลแค็บ Ford ย้าย เสากลางไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหลังมีพื้นที่วางขา และระยะห่างจากเข่าถึงเบาะหน้ากว้างที่สุด โดยผู้ใหญ่ 3 คน สามารถนั่งที่เบาะหลังอย่างสบายๆ แม้ว่าผู้โดยสารทั้งด้านหน้า - หลังจะมีความสูงกว่า 180 ซม.

ช่องเก็บของต่างๆ มีให้ 23 จุดในรุ่น ดับเบิ้ลแค็บ กล่องเก็บของกลางคอนโซลกว้าง - ลึก ให้ความจุถึง 8.5 ลิตร สามารถบรรจุกระป๋องเครื่องดื่มได้ถึง 6 กระป๋อง บางรุ่นสามารถเก็บความเย็นได้ ด้วยการต่อท่อแอร์เข้าในยังกล่องโดยตรง

Ranger ติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคมากมายในห้องโดยสาร แต่ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นด้วยเช่นกัน โดยอุปกรณ์หลักๆ คือ ระบบควบคุมการสั่งการด้วยเสียง เชื่อมต่อผ่านบลูทูธ, กล้องมองภาพด้านหลัง, พอร์ท AUX - USB, แอร์อัตโนมัติ, ครูซ คอนโทรล และจอสีขนาด 5 นิ้ว พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม

เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง

Ford Ranger ใหม่ จะมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล Duratorq TDCi ตัวถังมากับ 3 รูปแบบ คือ แบบธรรมดา, โอเพ่นแค็บ และ ดับเบิ้ลแค็บ โดยรุ่น โอเพ่นแค็บ หรือที่บางประเทศเรียกว่า 'แร็บ' (Rear Access Panels - RAP) หรือ ซูเปอร์แค็บ เป็นนวัตกรรมที่ Ford นำเสนอเป็นครั้งแรกใน Ford Ranger ที่วางจำหน่ายใน พ.ศ. 2545 ด้วยประตูรถที่เปิดกว้างออกไปยังฝั่งซ้ายและขวา

เครื่องยนต์ดีเซล มี 2 บล๊อค คือ Duratorq TDCi รหัส I4 ความจุ 2.2 ลิตร 4 สูบ แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (110 กิโลวัตต์) อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.15 กม./ลิตร อีกรุ่นคือ Duratorq TDCi รหัส I5 ความจุ 3.2 ลิตร 5 สูบ แรงบิดสูงสุด 470 นิวตันเมตร กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (147 กิโลวัตต์) โดยรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 10.4 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งคู่มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ซีเควนเชียล

ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน Duratec รหัส I4 ความจุ 2.5 ลิตร 4 สูบ แรงบิด 226 นิวตันเมตร กำลังสูงสุด 166 แรงม้า (122 กิโลวัตต์) ที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมระบบปรับระยะทางเดินท่อไอดีแบบแปรผัน (Variable intake cam geometry) ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ สามารถใช้ LPG ได้ รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 10.2 กิโลเมตร/ลิตร ดีขึ้น 24% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน

ทุกรุ่น มากับความจุถังน้ำมัน 80 ลิตร ส่วนตัวเลือกสำหรับการขับเคลื่อน ยังคงมีทั้งแบบ คือ 2 และ 4 WD รวมทั้งมีระดับความสูงให้เลือก 2 ระดับ โดยรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ไฮ-ไรเดอร์ ใช้โครงสร้างตัวถังเดียวกันกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ

ในตลาดรถกระบะ ระบบส่งกำลังแบบ 6 จังหวะ นับว่ามีจำนวนไม่มาก Ranger ใหม่ นับเป็นรถกระบะคันแรก ที่ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะแบบซีเควนเชียลให้ โดยได้รับการจูนให้การเปลี่ยนเกียร์มีความรวดเร็วจนแทบจะไม่รู้สึกถึงการ เปลี่ยนเกียร์ และเกียรอัตโนมัติของ Ranger ใหม่ ยังสามารถตรวจจับว่ารถกำลังวิ่งอยู่บนเนินที่มีความลาดชันหรือไม่ จากนั้นระบบส่งกำลังจะใช้เทคโนโลยี Grade Control Logic ในการค่อยๆ ลดเกียร์ลงขณะขับลงเนิน เพื่อเพิ่มแรงเบรกจากระบบส่งกำลัง เมื่อรถตรวจจับได้ว่าผู้ขับกำลังเหยียบเบรก

ในการทำงานตามปกติ ระบบเกียร์จะถูกตั้งการทำงานให้เน้นความสะดวกสบาย และการประหยัดน้ำมัน แต่หากต้องการขับแบบสปอร์ตยิ่งขึ้น ระบบเกียร์แบบซีเควนเชียล จะชะลอการเปลี่ยนเกียร์ลง ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้ ด้วยการโยกคันเกียร์ไปด้านหน้า (ลดเกียร์) หรือโยกไปด้านหลัง (เพิ่มเกียร์)

นอกจากนี้ ระบบส่งกำลังของ Ranger ยังสามารถปรับการทำงานให้ตอบสนองต่อสไตล์การขับขี่ของผู้ใช้งานได้ด้วยซอฟท์แวร์ Driver Recognition ที่สามารถจดจำอัตราการเร่ง การถอนคันเร่ง การเบรก และความเร็วในการเข้าโค้ง ระบบส่งกำลังรุ่นใหม่ จึงเลือกเกียร์ที่เหมาะสมได้อย่างถูกช่วงเวลา

"หลักการสำคัญของระบบนี้คือ การทำให้รถสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ตรงกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่" มร. ทิม โพสต์เกต (Tim Postgate) หัวหน้าวิศวกรด้านระบบส่งกำลังกล่าว "ผู้ขับขี่ที่ต้องการการขับแบบประหยัด จะได้รับความพอใจจากการเปลี่ยนเกียร์อย่างรวดเร็ว ขณะที่นักขับวัยรุ่น สามารถสนุกกับการขับขี่ได้อย่างเต็มที่เช่นกัน"

ช่วงล่างปรับปรุงใหม่ พร้อมลุยยิ่งขึ้น

ระบบกันสะเทือนหลัง ปรับปรุงให้เหมาะกับการขับขี่ในสภาพถนนหลากหลายรูปแบบ รองรับการบรรทุกน้ำหนักมากๆ ทั้งยังช่วยให้การทรงตัวดีเยี่ยมเมื่อขับด้วยความเร็วสูงบนพื้นดิน ช่วยลดการส่ายของรถ และช่วยให้รถไม่ลื่นไถลเมื่อขับบนพื้นผิวที่ขรุขระ นอกจากนี้ยังพัฒนาสปริงและช๊อคฯ ให้มอบความสบายยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการขับขี่บนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ เช่นในประเทศไทย

Ranger สามารถลุยได้แม้ในเส้นทางสุดโหด จุดต่ำสุดของรถอยู่สูงจากพื้น 241 มม. ซึ่งเป็นผลจากการ 'ยกชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลัง' ขึ้นไปอยู่ด้านบนคานเหล็กของโครงสร้างตัวถัง ทั้งชุดเกียร์ ถาดน้ำมัน และอุปกรณ์สำคัญอื่นๆ จึงได้รับการปกป้องอย่างปลอดภัย

อุปกรณ์ไฟฟ้าหลักๆ และชุดดักอากาศภายในห้องเครื่องก็ถูกยกให้สูงขึ้น ช่วยให้ Ranger สามารถลุยน้ำได้ลึกกว่า รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ และรุ่นขับเคลื่อ 2 ล้อ ไฮ-ไรเดอร์ สามารถลุยน้ำได้สูงสุด 80 เซนติเมตร นับเป็นความสูงระดับแถวหน้าของรถในกลุ่มนี้ ซึ่งจะต้องโดนใจผู้ขับขี่ที่ต้องขับรถข้ามแม่น้ำหรือขับฝ่าน้ำท่วมอย่างแน่นอน

ระบบช่วยเหลืออันชาญฉลาด

Ranger สามารถใช้งานบนทางลาดชันได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยระบบ Hill Launch Assist ทำให้แม้แต่รถที่บรรทุกน้ำหนักมาก ซึ่งอาจมีน้ำหนักรวมถึง 3,200 กิโลกรัม ก็ยังสามารถหยุด และออกตัวอีกครั้งได้บนถนนที่มีความลาดชันถึง 60%

ส่วนการขับลงเนินลาดชัน ระบบ Hill Descent Control จะทำงานอัตโนมัติ ช่วยเสริมแรงเบรก และลดความเร็วของรถโดยไม่ทำให้เบรกล็อก และผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกแต่อย่างใด การควบคุมการทำงานจึงเป็นไปอย่างง่ายดาย

Ranger รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ติดตั้งห้องเกียร์เสริม (Transfer Case) ที่มีความทนทาน ทั้งในรุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ ช่วยให้สามารถเปลี่ยนการขับเคลื่อนจาก 2 ล้อเป็นแบบ 4 ล้อได้ตลอดเวลา (Shift on the fly) ด้วยปุ่มควบคุมบนคอนโซล สำหรับบางรุ่น สามารถเลือกเฟืองท้ายแบบ ลิมิเต็ด สลิป หรือระบบ ดิฟเฟอเรนเชียลล็อค แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic locking rear differential) เพื่อช่วยลดอาการล้อหมุนฟรีได้

ดิฟเฟอเรนเชียลล็อคแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุปกรณ์ใหม่สำหรับ Ford Ranger ใช้ งานได้อย่างง่ายดาย ด้วยปุ่มควบคุมบนแผงอุปกรณ์ด้านหน้ารถ ทำงานด้วยการล็อกการหมุนของล้อผ่านการล็อกเฟืองท้ายของล้อหลังทั้ง 2 ด้าน ทันทีที่พบว่ามีล้อข้างใดข้างหนึ่งหมุนฟรี หรือพบว่าล้อหลังทั้ง 2 ด้านมีความเร็วในการหมุนแตกต่างกัน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อล้อด้านหนึ่งวิ่งอยู่บนน้ำแข็ง ติดโคลน หรือลอยอยู่ในอากาศ

เทียบกับรถที่ไม่มีระบบนี้ ล้อที่ประสบปัญหาจะหมุนอย่างรวดเร็ว ดึงทั้งกำลังและแรงบิดจากเครื่องยนต์ทั้งหมดไปใช้ แต่เมื่อล้อทั้ง 2 ด้านถูกล็อกเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อล้อหนึ่งหมุนฟรี อีกล้อหนึ่งจะได้รับกำลังและแรงบิด ในปริมาณมากพอที่จะขับรถให้รถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า

มาตรฐานด้านความปลอดภัย

ความปลอดภัยของ Ranger เริ่มต้นจากโครงสร้างตัวถังที่ใช้เหล็กแข็งแรงสูงพิเศษตลอดทั้งคัน ปกป้องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ในกรณีที่เกิดการชน ขณะที่เฟรมตัวถังใหม่ สามารถช่วยลดความแรงจากการกระแทกได้ วิศวกรของFord จำลองการชนในคอมพิวเตอร์ที่มีความทันสมัย ช่วยให้สามารถทดสอบการชนแบบเสมือนจริงได้มากกว่า 9,000 ครั้ง ก่อนที่จะสร้างรถต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบการชนจริงๆ

ถุงลมนิรภัยตามจุดต่างๆ ของรถ มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่วางจำหน่าย ม่านถุงลมนิรภัย ได้รับการติดตั้งในตัวถังทุกรูปแบบเป็นครั้งแรก โดยถุงลมนิรภัยเหล่านี้จะถูกบรรจุไว้บริเวณขอบหลังคา ขณะเกิดการชนด้านข้าง ถุงลมนิรภัยเหล่านี้จะพองตัวขึ้น เพื่อรองรับการกระแทกบริเวณศีรษะของผู้โดยสาร ที่นั่งอยู่ติดกับประตูทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ครอบคลุมทั้งโครงสร้างตัวถัง และส่วนที่เป็นกระจก จากบริเวณเสาหน้า (A-pillar) ไปจนถึงเสาหลัง (C-pillar)

Ranger มากับถุงลมนิรภัยด้านหน้าสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า ส่วนถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า จะติดตั้งในบริเวณด้านข้างของเบาะ เพื่อปกป้องบริเวณลำตัวเมื่อเกิดการชนจากด้านข้าง พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุดรั้งกลับอัตโนมัติ สำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง และระบบลดแรงกระแทกจากการเบรกสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า รวมทั้ง เทคโนโลยี BeltMinder ช่วยเตือนให้ผู้โดยสารด้านหน้าคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เสมอ

ระบบควบคุมเสถียรภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ESP) ช่วยในการเพิ่มแรงเบรก และลดแรงบิดของเครื่องยนต์ เพื่อลดการปัดของล้อ และอาการท้ายปัด หรือดื้อโค้งขณะขับขี่บนถนนลื่นๆ หรือเมื่อผู้ขับจำเป็นต้องเปลี่ยนเลนกระทันหัน โดยระบบ ESP ที่ติดตั้งใน Rangerจะประกอบด้วยเทคโนโลยีย่อยต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพและมอบความปลอดภัยยิ่งขึ้น อาทิเช่น

ระบบ Trailer Sway Control จับการเคลื่อนไหวของส่วนพ่วงท้าย ว่ามีการแกว่งหรือไม่ หากพบอาการดังกล่าว ระบบจะเพิ่มแรงเบรก เพื่อลดการแกว่งของส่วนพ่วงท้าย

ระบบ Adaptive Load Control ช่วยรักษาเสถียรภาพของรถในขณะบรรทุกน้ำหนักมาก

ระบบ Roll-over Mitigation ช่วยตรวจจับความเร็วของรถ การเร่งด้านข้าง และองศาของพวงมาลัย ซึ่งเมื่อรถมีแนวโน้มว่าจะเสียสมดุล ระบบจะเข้าแทรกแซงการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงของการพลิกคว่ำ

สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถปิดการทำงานบางส่วนของระบบ ESP ได้ เพื่อลดการควบคุมอาการท้ายปัด และการดื้อโค้ง รวมทั้งการลดแรงบิดของเครื่องยนต์ แต่ระบบจะยังคงแทรกแซงการทำงานของเบรก เพื่อลดอาการล้อหมุนฟรี การปรับตั้งการทำงานแบบนี้ เหมาะสำหรับการขับขี่บนพื้นทรายหนาๆ หรือบนพื้นที่ปกคลุมด้วยโคลนมากๆ เพื่อช่วยรักษาสมดุลของรถ และให้การควบคุมที่แม่นยำ

ระบบ Gravel Road Logic ในระบบเบรค ABS ช่วยลดระยะในการเบรกขณะขับขี่บนถนนลื่น ส่วนระบบกระจายแรงเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EBD) จะช่วยเสริมการทำงานของล้อหลัง เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักที่แตกต่างกัน ทั้งยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ ปิดท้ายด้วยระบบสัญญาณไฟกระพริบ ที่จะติดเองแบบอัตโนมัติ เพื่อเตือนรถที่ตามมาด้านหลัง ในกรณีที่เกิดการเบรกกระทันหัน

ที่มา: Ford


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ