มาตรฐานหมวกกันน็อคระดับโลกมีอะไรบ้าง แล้วเขาทดสอบกันอย่างไร? Share this

มาตรฐานหมวกกันน็อคระดับโลกมีอะไรบ้าง แล้วเขาทดสอบกันอย่างไร?

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 05 June 2561

มาตรฐานการผลิตหมวกกันน็อคในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะใช้ มอก. หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม

แล้วหมวกกันน็อคแบรนด์ระดับโลกทั้งหลายเขาใช้มาตรฐานอะไรในการตรวจสอบ วันนี้มารู้จักกันครับ

หลายๆ ท่านอาจผ่านตา หรือเคยได้ยินกันมาบ้างว่า หมวกกันน็อครุ่นนี้ ยี่ห้อนั้น ได้รับการรับรองจาก DOT, SNELL, ECE และ Sharp เป็นต้น ซึ่งในแต่ละมาตรฐานนั้นจะมีรูปแบบการทดสอบเป็นของตัวเอง สำหรับประเทศไทย ผู้ทดสอบคือ มอก. นั่นเอง เรามาทำความรู้จักกันว่ามาตรฐานทั้งหลายเหล่านี้ คืออะไรกันบ้าง แล้วเขาทดสอบอะไรกันอย่างไร ไปชมกันได้ครับ

DOT เป็นมาตรฐานการขนส่งของกรมการขนส่ง (Department Of Transportation) เป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพหมวกกันน็อกของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลกลางบังคับให้ใช้กับสินค้าเกือบทุกชนิดมีผลบังคับใช้โดย National Highway Safety Administration (NHTSA) เพื่อให้หมวกนิรภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ได้รับการรับรอง DOT และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำและสามารถผ่านชุดทดสอบแรงกระแทกได้  ถ้าตรวจผ่านแล้วครั้งหนึ่งจะถือว่าการผลิตได้มาตรฐาน จะไม่มีการตรวจใหม่ซ้ำจนกว่าจะถูกร้องเรียนจากผู้ใช้งานจึงจะเรียกมาตรวจใหม่

การทดสอบการกระแทก ทดสอบบริเวณตำแหน่งหัวของหุ่น ซึ่งจะติดตั้งเซนเซอร์ไว้ด้านใน เพื่อวัดความเร็วและแรงกระแทกขณะที่หมวกถูกทิ้งลงบนพื้นผิวที่แตกต่างจากความสูงที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การทดสอบจะทำขึ้นสองครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าหมวกกันน็อกสามารถทนต่อการรับแรงกระแทกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง การทดสอบอื่น ๆ ก็จะมีการทดสอบจากการทิ่มแทง ของมีคม และ ความแข็งแรงของสายรัดคาง

เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว จะติดสติ้กเกอร์ DOT ไว้บริเวณด้านหลังของหมวกกันน็อค เป็นมาตรฐานที่ถูกยอมรับทั่วโลก

ECE  ย่อมาจาก Economic Commission for Europe (คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป) เป็นองค์กรตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อค เสื้อผ้า รองเท้า กางเกง กระทั่งเสื้อเกราะ ส่วนของหมวกกันน็อครถจักรยานยนต์จะใช้รหัสว่า ECER22-05 ซึ่งรหัส R ย่อมาจาก Regulation หมายเลข 22 ส่วน 05 คือในส่วนของใช้งานกับรถจักรยานยนต์ โดยมาตรฐานการตรวจสอบจะเทียบเท่ากับ DOT แต่จะมีความละเอียดมากกว่า และได้การยอมรับถึง 50 ประเทศ

ทว่ามาตฐาน ECE กลับไม่ได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ แต่ ECE เป็นการรับรองมาตรฐานหมวกนิรภัยที่ได้รับการยอมรับจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และการแข่งต่างๆ เช่นกัน การทดสอบ ECE จะเข้มงวดและค่อนข้างทันสมัย โดยการทดสอบพื้นฐานจะเหมือนกับ DOT และ Snell ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่จะมีการทดสอบพิเศษที่เพิ่มเข้ามาคือ

การดูดซับแรงกระแทกโดยการวางหมวกกันน็อกลงบนพื้นแบน

วัสดุสายรัดคางถูกทดสอบแรงดึงที่มากกว่า 670 ปอนด์

การทดสอบความทนทานของหมวกต่อการเสียดสีกับพื้นถนน

หากต้องการได้รับการรับรอง ECE ผู้ผลิตจะต้องส่งชุดการผลิตจำนวน 50 ชุดสำหรับการทดสอบอิสระ การทดสอบจะกระทำในห้องทดลองของบุคคลที่สามโดยมีพยานทั้งจากผู้ผลิตและ ECE เพื่อให้การรับรอง

SHARP 5 Star เป็นมาตรฐานการรับรองของกรมการขนส่ง ของประเทศอังกฤษ ซึ่งทำการทดสอบจริงทั้งหมด โดยจะสุ่มนำเอาหมวกกันน็อคที่มีจำหน่ายในร้านค้ามาทำการทดสอบ ไม่ใช่การส่งหมวกจากผู้ผลิตมาให้ทดสอบ ถือเป็นอีกการทดสอบที่เชื่อถือได้สูงมาก เพราะว่าเป็นการทดสอบหมวกที่มีวางจำหน่ายจริงๆ อีกทั้งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดภายในเว็บไซต์ได้ด้วยว่าหมวกแต่ละรุ่น สามารถกระจายแรงกระทำต่อหัวได้ดีมากน้อยเพียงใด โดยจะมีคะแนนสูงสุดที่ 5 ดาว

สามารถเลือกดูยี่ห้อและรุ่นได้ที่นี่ https://sharp.dft.gov.uk/

มอก. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งหมายถึงข้อกำหนดที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตสินค้า เพื่อให้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งหมวกกันน็อคที่ขายในประเทศไทยถูกบังคับให้ผ่าน มอก. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทุกใบ ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมใส่หมวกตั้งหลายหมื่น แต่ยังโดนตำรวจจับได้ เพราะกฎหมายได้เขียนไว้นี่เอง

SNELL นับว่าเป็นมาตรฐานการทดสอบหมวกที่โหดที่สุดในปัจจุบัน และได้คุณภาพหมวกกันน็อคที่ปลอดภัยที่สุด (SNELL M2015) ทดสอบโดยองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งจะมีการทดสอบหมวกรุ่นเดิมทุกๆ 5 ปี โดยจะมีบททดสอบที่ละเอียดกว่า DOT

การทดสอบนี้ จัดทำโดย SNELL Memorial Foundation ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยมิได้หวังผลกำไรทางการค้า และความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานเป็นครั้งแรกถูกนำมาใช้ในสนามแข่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959. โดย SNELL ได้ทำการทดสอบหมวกทุกชนิด เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อกสำหรับรถจักรยานยนต์, รถจักรยาน, Formula 1, สเก๊ตบอร์ด, สกี รวมไปถึงรถยนต์ โดยมิได้จงเจาะว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรในการทำหมวกกันน็อก ซึ่งในปัจจุบันมีวัตถุดิบอยู่ 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ABS Plastic, Fiberglass, Polycarbonate, และ Carbon Fiber & Carbon Kevlar

 ดูว่ามีหมวกรุ่นไหน ยี่ห้อใดบ้างที่ได้รับมาตรฐาน Snell

https://www.smf.org/certlist/std_M2015

มาตรฐาน SNELL จะปรับเปลี่ยนใหม่ทุก 5 ปี และแต่ละครั้งจะเข้มงวดขึ้นด้วย ผู้ผลิตหมวกกันน็อกจึงต้องปรับปรุงวิธีผลิตให้ ได้มาตรฐานและหากรอให้มีการประกาศมาตรฐานเสียก่อนแล้วจึงลงมือผลิต ก็จะไม่ทันป้อนตลาด ผู้ผลิตจึงใช้ทดสอบหมวกในการผลิต โดยเพิ่มความเข็มงวดมากกว่ามาตรฐานปัจจุบันเอาไว้ก่อนหลายเปอร์เซนต์ ซึ่งหากไม่ผ่านก็อาจสรุปได้เลยว่า ไม่ควรยื่นขอคำรับรองมาตรฐานจาก SNELL การปรับมาตรฐานให้สูงขึ้นทุก 5 ปีนี้สร้างความกดดันให้กับผู้ผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพของหมวกให้สูงยิ่งขึ้น

ไปดูวิดีโอกันครับว่าการทดสอบจาก SNELL เขาทำอะไรกันบ้าง

ผู้ผลิตที่ต้องการคำรับรองมาตรฐานจาก SNELL ต้องส่งตัวหมวกทุกขนาดในแต่ละรุ่นเพื่อไปรับการทดสอบ หมวกที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับ SNELL License และ SNELL Label เมื่อได้รับ SNELL Label จะถูกนำไปแปะสัญลักษณ์ผ่านการทดสอบที่ตัวหมวกได้

การทดสอบมาตรฐาน SNELL1 การทดสอบการดูดซับแรงกระแทก

ใช้ท่อนเหล็กแบบแบนราบ ทิ้งตำแหน่งเดียวภายในขอบเขตทดสอบ จากความสูง 3.06 เมตร (จะเกิดพลังงาน 150 จูล) 1 ครั้ง และครั้งที่ 2 ที่ตำแหน่งเดิม จากความสูง 2.24 เมตร (จะเกิดพลังงาน 110 จูล) ตอนนี้มีอัตราความเร็วที่เพิ่มที่หุ่นจำลองศีรษะ ไม่เกิน 2940 (300G) การทดสอบจึงจะผ่าน

การทดสอบมาตรฐาน SNELL 2 การทดสอบต้านทานการทะลุผ่าน การทดสอบนี้เป็นการทดสอบความแข็งแรงของหมวกกันน็อกต่อวัตถุปลายแหลม อย่างเช่น ส่วนที่นูนขึ้นมาที่บนพื้นผิวถนนข้างถนน และบันไดของรถจักรยานยนต์ เป็นต้น หมวกกันน็อกจะต้องป้องกันวัตถุที่จะมาสัมผัสหุ่นจำลองศีรษะ

วิธีทดสอบ : ทิ้งแท่งเหล็ก Striker เป็นลูกตุ้มเหล็กปลายแหลมน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ลงมาจากที่สูง 3 เมตร โดยมีท่อและเส้นลวดเป็นตัวนำทางทิ้งลงมาที่หมวกกันน็อก - สวมหมวกกันน็อกบนหุ่นศีรษะจำลอง ซึ่งเตรียมไว้เพื่อการทดสอบการต้านทานการทะลุผ่าน วางหุ่นศีรษะจำลองไว้คงที่บนแท่นทดสอบ พอ Striker สัมผัสถูกหุ่นศีรษะจำลอง คลื่นกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านส่งข้อมูลมาที่คอมพิวเตอร์ "การที่ปลายแหลมของ Striker ไม่สัมผัสหุ่นศีรษะถือว่าการทดสอบผ่าน"

การทดสอบมาตรฐาน SNELL 3 การทดสอบสายรัดคาง การทดสอบนี้จะทดสอบความแข็งแรงของสายรัดคาง เนื่องจากเกรงว่าเวลาที่ล้มหรือคว่ำ สายรัดคางจะขาด ยืด ทำให้หมวกกันน็อกหลุดออกไป ดังนั้นการทดสอบสายรัดคางก็จำเป็น โดยมีหลักว่า

สายรัดคางยืดน้อยกว่า 30 มิลลิเมตรและสายรัดคางไม่หลุด จากหมวกกันน็อค ถือว่าการทดสอบผ่าน

การทดสอบมาตรฐาน SNELL 4 การทดสอบ Roll Off การทดสอบนี้เป็นการทดสอบการเพิ่มแรงดึงเพื่อที่จะถอดหมวกกันน็อคแล้ว หมวกกันน็อคไม่หลุดง่ายๆ วิธีทดสอบ : เกี่ยวตะขอที่หมวกกันน็อค ที่ปลายตะขอแขวนลูกตุ้มน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทิ้งลงมา 0.6 เมตร ซึ่งการที่หมวกกันน็อคไม่หลุดจากหุ่นศีรษะถือว่าผ่านการทดสอบ

การทดสอบมาตรฐาน SNELL 5 การทดสอบส่วนของคาง การทดสอบลักษณะเฉพาะของ SNELL เป็นการทดสอบความแข็งแรงของส่วนคาง เวลาชนส่วนของคางจะโค้งด้วยแรงกระแทกจะทดสอบความแข็งแรงเพื่อที่จะไม่ทำให้ส่วนของใบหน้าเป็นแผล หมวกกันน็อกที่มีส่วนของคางที่เป็นอิสระและจะเคลื่อนที่ได้ก็ เป็นข้อบังคับของการทดสอบนี้

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบชิวหน้าหมวกด้วยว่าจะต้องไม่แตกหากโดนหิน หรือวัตถุใดกระเด็น / ดีดใส่ โดยทดสอบด้วยการเอาปืนอัดลมยิงใส่ชิวหน้าซะเลย ถ้าแตกก็ถือว่าไม่ผ่าน และยังจัดว่าเป็นอันตรายต่อดวงตาอีกต่างหาก

โดยสรุปแล้ว การทดสอบจาก SNELL เป็นการทดสอบที่ยากที่สุด และได้หมวกที่มีประสิทธิภาพการป้องกันสูงที่สุด แต่ก็ใช่ว่าการทดสอบตัวอื่นจะดีไม่เท่านะ ไม่ว่าหมวกรุ่นใดก็ตามที่ผ่านการทดสอบอันใดอันหนึ่งไม่ว่าจะเป็น DOT / SNELL / ECE / Sharp หรือ มอก. ก็ล้วนมีมาตรฐานสูงพอที่จะผ่านการทดสอบเหล่านั้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแล้วก็จะเลือกซื้อหมวกกันน็อคสักใบ นอกจากดูรูปร่าง การออกแบบ และสีสันแล้ว อย่าลืมดูสัญลักษณ์ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้วยนะครับ

ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ที่นี่

ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสองเชิญที่นี่


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ