รีวิว Honda Jazz Hybrid ฮอนด้า แจ๊ส ไฮบริด ขับทดสอบกว่า 1,600 กิโลเมตร Share this
รีวิวรถยนต์
โหมดการอ่าน

รีวิว Honda Jazz Hybrid ฮอนด้า แจ๊ส ไฮบริด ขับทดสอบกว่า 1,600 กิโลเมตร

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 28 August 2555

ในช่วงปีนี้ เราได้เห็นการแข่งขันของรถยนต์เล็ก (Sub Compact Car) ในหลากหลายค่ายกันมากขึ้น เนื่องด้วยมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล จะเห็นได้จากรถ Eco Car ที่มียอดจองมากล้นในทุกค่าย และในหลายค่ายรอกันนานนมแทบจะรับรถไม่ทันสิ้นปีนี้ด้วยซ้ำ และแล้วทาง Honda ก็ได้ปล่อยรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อมาทำตลาดแย่งส่วนแบ่งจากกลุ่มผู้ใช้รถ Eco Car และรถยนต์ Sub Compact Car ซึ่งก็คือ รถยนต์ Honda Jazz Hybrid ที่พึ่งจะเปิดตัวไปเมื่อเดือนที่แล้ว ถือว่าเป็นรถยนต์ไฮบริดคันแรกในบ้านเราที่ทำราคาต่ำกว่า 1ล้านบาท ทำเอาทุกคนให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษ เพราะราคาที่ทาง Honda Automobile ประเทศไทย ตั้งขายไว้นั้นอยู่ที่ 768,000บาท! ในขณะที่เพื่อนบ้านเรามาเลเซียได้เปิดตัวไปก่อนนั้น ราคาอยู่ราวๆ 9แสนกลางๆ แต่กับราคาในบ้านเราแทบจะเรียกได้ว่า Honda Jazz Hybrid นี้เกิดมาเพื่อฆ่า Toyota Prius C กันเลย กับ Option ที่หยิบยกมาจาก Jazz ตัวปกติในรุ่นรอง Top มาใช้ ซึ่งทำให้สิ่งที่ควรมีหลายๆ อย่างขาดหายไปพอสมควร แล้วเจ้า Jazz Hybrid นี้จะให้อะไรนอกเหนือจาก Jazz ตัวปกติกันบ้างล่ะ ไปดูกันเลยดีกว่า

DSC_0041_resize

รูปโฉมภายนอก มิติภายนอกนั้นเหมือนกันกับตัวปกติเลย แต่น้ำหนักจะมากกว่ารุ่นตัวรอง Top อยู่ ประมาณ 65 กิโลกรัม จากมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ลักษณะอื่นที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ กันชนหน้าดีไซน์ใหม่, ไฟท้าย LED เป็นโคมใส ในขณะที่ตัวปกติเป็นโคมสีแดง และจะพบโลโก้ Hybrid อยู่ใกล้ๆ ไฟท้ายขวา บ่งบอกว่าการที่คุณเลือกใช้รถคันนี้เท่ากับว่าคุณได้ช่วยโลกบ้างแล้ว ในส่วนไฟหน้ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ตรงบริเวณขอบไฟด้านบนและล่างจะมีขลิบสีฟ้าอ่อนอยู่ และยังมีคิ้วโครเมียมตรงบริเวณที่เปิดประตูท้ายอีกด้วย นอกนั้นก็จะเป็น Option ของตัวรอท็อป ไม่ว่าจะเป็นล้ออัลลอยขอบ 15 นิ้ว ไม่มีไฟตัดหมอก ไม่มีสเกิร์ตข้าง ไม่มีสปอยเลอร์ ไม่มีไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง ไม่มีครอบปลายท่อไอเสีย โดยรวมแล้วทำให้รถนั้นดูเปลือยๆ โล้นๆ ไปสักหน่อย ถ้าใครชอบตกแต่ง ก็ไปใส่ชุดแต่งโดยรอบก็สวยขึ้นได้ไม่แพ้ตัวท็อปแน่นอน ส่วนสีมีให้เพียง 4 สี เท่านั้น คือ ขาวมุก (Brilliant White Pearl), เงินเมทัลลิก (Alabaster Silver Metallic), เขียวเมทัลลิก (Fresh Lime Metallic) และ น้ำเงินเมทัลลิก (Cerulean Blue Metallic)

DSC_0074_resize

รูปโฉมภายใน การตกแต่งภายในนั้นดูเผินๆ แล้วไม่แตกต่างจาก Jazz ตัวปกติเลย คือเป็นโทนสีดำ-น้ำเงิน แต่จุดเด่นๆ ที่เห็นได้ชัดเจนตรงแผงแดชบอร์ด ปุ่มปรับอากาศเปลี่ยนไป เพราะใน Jazz Hybrid นี้ให้มาเป็นเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็น Option ของสเป็กญี่ปุ่น ซึ่งแม้แต่ในตัวท็อปปกติก็ยังไม่มีมาให้ และหน้าปัดเรือนไมล์ ดีไซน์ใหม่ มีสีสันสวยงามเน้นไฟโทนสีฟ้า ซึ่งเข้ากันกับไฟบอกอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศและไฟเครื่องเสียง มาตรวัดความเร็วตรงกลางนั้นสามารถเปลี่ยนสีได้ 3 สี ตามการขับขี่ ได้แก่ สีน้ำเงิน แสดงถึงการขับขี่แบบปกติ, สีฟ้าอ่อน แสดงการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน, สีเขียว แสดงการขับขี่แบบประหยัดน้ำมันสูงสุด และใน Jazz Hybrid นี้มีปุ่ม ECON Mode เช่นเดียวกับ ที่พบใน Honda Civic FB ฝังอยู่ตรงตำแหน่งขวามือของพวงมาลัยด้านล่าง และจุดสำคัญอีกอย่างคือ ฟังก์ชัน MID ที่มาพร้อมปุ่มควบคุมบนพวงมาลัยทางด้านขวา ใช้บอกข้อมูลสถิติอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน การตั้งค่าต่างๆ รวมถึงการให้คะแนนในการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน รวมถึงแสดงสถานะการทำงานของระบบไฮบริดด้วย

DSC_0036_resize

เทคโนโลยีการทำงานของเครื่องยนต์แบบใหม่ IMA (Integrated Motor Assist) เครื่องยนต์ มีความจุ 1339 cc SOCH 4 สูบ 8 วาล์ว i-VTEC ให้กำลังสูงสุด 88 แรงม้า(PS) ที่ 5800 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุดที่ 121 นิวตันเมตรที่ 4,500 รอบ/นาที + มอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีระบบควบคุมการเปิด-ปิด ของลิ้นปีกผีเสื้อแบบไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 14 แรงม้า PS ที่ 1,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 78 นิวตันเมตรที่ 100 รอบ/นาที โดยมีแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ด้านหลังตรงตำแหน่งที่เป็นล้ออะไหล่ (ดังนั้นรถ Jazz Hybrid นี้จึงไม่มีล้ออะไหล่มาให้ ถ้าขับเดินทางต่างจังหวัด ก็คงต้องระวังในจุดนี้ให้มากเป็นพิเศษ) สำหรับเครื่องยนต์ตัวนี้รองรับพลังงานเชื้อเพลิงได้ถึง E20 ในขณะที่รถยนต์ไฮบริดอีกรายอย่าง Toyota Prius นั้นรองรับได้เพียง E10 เท่านั้น

ในส่วนการทำงานของระบบไฮบริดนั้น ถือเป็นระบบคู่ขนาน (Parallel Hybrid) คือ เครื่องยนต์จะทำงานเป็นหลักและให้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวเสริมเอา เหมือนดั่งชื่อ IMA (Integrated Motor Assist) นั่นเอง โดยจะแบ่งช่วงการทำงานออกเป็นดังนี้

• ช่วงออกตัว จะใช้เครื่องยนต์ทำงานเป็นหลัก และให้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยเสริม

• ช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำคงที่ จะเข้าสู่ EV Mode ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอย่างเดียว

• ช่วงเร่งแซง มอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานผสานกับเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งแซง

• ช่วงเบรก เครื่องยนต์จะหยุดทำงานและดึงพลังงานที่สูญเสียไปมาเก็บเป็นพลังงานไฟฟ้ากลับเข้าสู่แบตเตอรี่ไฮบริด

• ช่วงรถจอดหยุดนิ่ง เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะหยุดทำงาน เข้าสู่ Idling Stop ทำให้ประหยัดน้ำมันและลดมลพิษอีกด้วย

DSC_0073_resize

และอีกเทคโนโลยี ที่ทาง Honda ได้ให้มา ก็ ECON Mode ที่จะช่วยในการลดพลังงานสิ้นเปลืองลงโดยเครื่องยนต์จะทำงานให้เหมาะสมกับเกียร์และระบบปรับอากาศภายในรถ พูดถึง Idling Stop สักหน่อย ระบบ Idling Stop นี้ ในรถยนต์ Nissan March และ Almera ก็เคยมีมาแล้ว แต่ระบบการทำงานของ Jazz Hybrid นั้นแตกต่างออกไป คือจะทำงานเมื่อเหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่ง และเท้าต้องเหยียบเบรกอยู่ตลอด ไฟ Auto Stop ตรงหน้าปัดเรือนไมล์จะติดขึ้น ระบบจะตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์ และเครื่องยนต์ โดยที่ระบบนี้จะตัดการทำงานได้ถึง 90 วินาที

ระบบกันสะเทือน สเป็กบนแผ่นกระดาษนั้น เป็นแบบ Jazz ตัวปกติเลย คือ หน้าเป็นแบบ McPherson Strut พร้อมเหล็กกันโครง และด้านหลังเป็น Torsion Beam H type แต่มีการปรับเซ็ตช่วงล่างใหม่ ทำให้นุ่มนวลถูกอกถูกใจคนไทย อย่างเราๆกันมากขึ้น

ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นแบบดิสก์เบรกระบายความร้อนตามปกติ แต่ด้านหลังทำเอางง เหมือนกันที่เป็นดรัมเบรก ทั้งๆที่ Jazz ตัวปกติในทุกรุ่นนั้น ด้านหลังนั้นเป็นดิสก์เบรกมาหมด แต่ในตัว Jazz Hybrid นี้กลับไปเอา สเป็กของ City รุ่น S มาให้ซะอย่างนั้น ไม่รู้จะประหยัดไปขนาดไหนกับระบบเบรกนี้

DSC_0024_resize

ระบบส่งกำลังและการควบคุม ทาง Honda ได้จับ Jazz Hybrid นี้ หันกลับมาคบกับเกียร์ CVT อีกครั้งหลังจากที่ เกียร์ CVT ของ Jazz ใน Generation แรกนั้น ได้สร้างปัญหาอย่างมาก พอมาใน Generation 2 จึงหันไปเล่น เกียร์อัตโนมัติ 5 Speed Grade Logic Control แทน แต่ในเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดตัวนี้มันไม่มีความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ทำได้ไม่ไหลลื่นนัก จังหวะเปลี่ยนเกียร์จะกระชากเอาแบบรู้สึกได้ กลับมาใหม่คราวนี้จึงหันกลับมาใช้ CVT ตัวใหม่อีกครั้ง ในด้านการควบคุมนั้น เป็นพวงมาลัยแรคแอนด์พีเนียน เพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า EPS เช่นเคย

ระบบความปลอดภัย ประกอบไปด้วย ระบบเบรกพื้นฐาน ABS และ EBD, โครงสร้างตัวถังนิรภัย G-CON (G-force Control), ถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS, กุญแจ Immobilizer, ระบบสัญญาณกันขโมย, สัญญาณกะระยะกันชนหลัง 4 จุด

Jazz Hybrid ขับขี่แบบสบายขึ้น และสบายสตางค์ในกระเป๋า แต่ยังคงความเอนกประสงค์ของ Hatchback

สำหรับการขับทดสอบในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง Honda Automobile ประเทศไทย สำนักงานใหญ่ เป็นอย่างมาก ที่เอื้อเฟื้อรถมาให้ทดสอบ รถคันที่ได้มานี้เป็น Honda Jazz Hybrid สีเงินเมทัลลิก สำหรับเส้นทางในการวิ่งครั้งนี้ เป็นระยะทางกว่า 1600 กิโลเมตร โดยวิ่งออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าลงทิศใต้ ไปตามถนนเพชรเกษม จนตัดเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปยังอำเภอดอนสัก และในขากลับก็วิ่งย้อนกลับทางเดิม สำหรับการคิดอัตราการสิ้นเปลืองในครั้งนี้ ได้คำนวณ การเติมน้ำมันเต็มถัง 2 ครั้ง โดยในถังแรกนั้น นับตั้งแต่ออกจาก Honda สำนักงานใหญ่ อุดมสุข จนถึงจังหวัดชุมพรเติมน้ำมันเต็ม (gasohol 91) เป็นระยะทาง 511.2 กิโลเมตร เติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัด ได้ 26.866 ลิตร คิดอัตราสิ้นเปลืองเป็น 19.03 กิโลเมตร/ลิตร โดยในถังแรกนี้ วิ่งสภาพการจราจรติดขัดมากในกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร นอกนั้นสภาพการจราจรโล่ง วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงจังหวัดชุมพร ส่วนในถังที่สองนี้ วิ่งตั้งแต่ออกจากปั๊มน้ำมันไปจนถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวิ่งกลับมาเติมน้ำมันอีกทีที่ชุมพรอีกครั้ง เป็นระยะทาง 581.3 กิโลเมตร ใช้ไป 28.308 ลิตร คิดอัตราสิ้นเปลืองได้ 20.54 กิโลเมตร/ลิตร โดยในถังนี้นั้นการขับจอดค่อนข้างบ่อย ในช่วงที่อยู่อำเภอดอนสัก นอกนั้นวิ่งที่ความเร็วเฉลี่ย 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีการเหยียบเร่งทดลองอัตราเร่งด้วยเล็กน้อย

DSC_0045_resize

หมายเหตุ ในการวิ่งทดสอบครั้งนี้ มีผู้ขับน้ำหนัก 57 กิโลกรัม และผู้โดยสารอีกคนน้ำหนัก 80 กิโลกรัม พร้อมกระเป๋าสัมภาระอีกราว 10 กิโลกรัม และเปิดใช้ ECON Mode วิ่งเป็นหลัก

จากที่ดูตัวเลขที่คำนวณได้แล้ว ก็ถือว่าทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับในถังแรกนั้น ไม่ค่อยอยากจะให้น้ำหนักมากนัก เพราะสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดมาก รวมถึงในช่วง 50 กิโลเมตรแรกนั้น น้ำหนักโดยสารรวมของรถไม่แน่นอนอีกด้วย แต่ในถังที่สอง ถือว่าทำได้ตามที่คาดไว้ ราว 20 กิโลเมตร/ลิตรต้นๆ ถ้าไม่มีผู้โดยสารกับกระเป๋าสัมภาระอีก และไม่ได้ขับจอดๆบ่อยๆ น่าจะได้ราวๆ 21 กิโลเมตร/ลิตร+นิดหน่อย ซึ่งระดับนี้นั้น ทำได้พอๆ กับพวกรถ Eco Car แต่ยังเป็นรอง Toyota Prius อยู่ดี

DSC_0049_resize

เมื่อได้รับกุญแจรถ ลูกกุญแจมันเหมือนกันเป๊ะเลยกับ Jazz ตัวปกติ ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความแตกต่างเลย และเมื่อขึ้นมาบนรถเสียบกุญแจและสตาร์ท เสียงเงียบมากจริงๆ เนื่องจากใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานจึงไม่มีเสียงการหมุนของไดสตาร์ท แล้วจึงมาเปิดเร่งเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ หน้าจอบอกอุณหภูมิสีน้ำเงิน ช่างดูสวยงามรับกันกับมาตรวัดและไฟเครื่องเสียงเสียจริง ต่อมาก็ปรับเบาะให้ต่ำสุด ยังรู้สึกว่าตำแหน่งนั่งยังสูงอยู่แต่มองไม่เห็นฝากระโปรงหน้าตามแบบของรถยนต์หน้าลาด แล้วจึงมาปรับพวงมาลัยที่ปรับได้ 4 ทิศทาง เมื่อเข้าที่แล้ว ต่อมาก็ทำการเปิดกระจกมองข้างออก แต่พอมองไป เอ๊ะ! ไม่มีปุ่มปรับไฟฟ้ามาให้ ลืมไปว่ามันเป็นตัวรองท็อป ซึ่งไม่มี Option กระจกมองข้างพับไฟฟ้าให้ ทำให้ต้องลุกออกไปผลักกระจกมองข้างด้วยมือตัวเอง สำหรับการตกแต่งภายในห้องโดยสารที่เป็นโทนสีดำ-น้ำเงินนั้น ดูรวมๆไม่ต่างจาก Jazz ตัวปกติ เลย เบาะนั้นวัสดุเป็นผ้าซึ่งอมฝุ่นมากอยู่พอสมควร สำหรับมุมมองวิสัยทัศน์นั้น ก็เหมือนกันกับ Jazz ปกติ ทั่วๆไป คือกระจกบานหน้ารถมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ให้มุมมองกว้างมองออกไปได้ไกล มุมมองด้านข้างเวลากลับรถก็ไม่เป็นปัญหามากนักตรงบริเวณเสา A เพราะมีช่องเล็กๆ ให้มองผ่านช่วยเพิ่มมุมมองอยู่ บริเวณเสา C ก็เช่นกันถึงแม้จะบังอยู่พอสมควรแต่ก็มีช่องกระจกให้มองผ่านช่วยเพิ่มมุมมองอยู่บ้าง ในส่วนรูปทรงของกระจกมองข้างทรงนี้มองได้ค่อนข้างชัดเจน ถึงแม้จะไม่ได้บานใหญ่เท่ารถกระบะก็ตาม เมื่อมานั่งที่เบาะตอนหลัง ต้องขอบอกเลยว่า มันเป็นรถยนต์ Sub Compact Car ที่นั่งสบายมากที่สุดรุ่นหนึ่ง และยังนั่งสบายกว่ารถยนต์ Compact Car บางรุ่นเสียอีก เมื่อลองเปิดฝากระโปรงท้ายดู จะไม่สามารถเปิดพื้นพรมด้านล่างได้ เพราะพื้นที่นี้มันเคยเป็นล้ออะไหล่ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นพื้นที่เก็บแบตเตอรี่ไปเสียแล้ว จึงไม่มีล้ออะไหล่มาให้ แต่ยังดีที่ให้ชุด Kit ปะยางมาให้แทน โดยในระหว่างที่เดินทางวิ่งทริปครั้งนี้ ก็แอบหวั่นๆ เล็กๆ หากเกิดยางแตกรั่วขึ้นมา ต้องมานั่งปะยางกันเองคงเหนื่อยเสียก่อน สู้หาปั๊มน้ำมันหรือร้านปะยางน่าจะดีกว่า

ในด้านการเข้าขับขี่ ต้องบอกเลยว่า ครั้งแรกที่เท้าได้สัมผัสกับคันเร่ง รู้สึกได้เลยว่าคันเร่งมันแข็งมากกว่าพวก Eco Car ถ้ากดปุ่ม ECON Mode ด้วยแล้วคันเร่งยิ่งหนืดแข็งเข้าไปอีก แต่ว่ายังไม่เทียบเท่า Toyota Prius แต่มันยังให้ความรู้สึกราวกับว่าจะเฉื่อยกว่า Eco Car เสียอีก แต่พอลองมากระแทกคันเร่งแรงๆ จนมิดในช่วง Test 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว มันทำได้ดีกว่าที่คิด เวลาสิ้นสุดลงที่ 9.98 วินาที กับรอบที่ราวๆ 6000 อย่าลืมว่ามีน้ำหนักผู้โดยสารรวมกับกระเป๋าสัมภาระอีกเกือบ 100 กิโลกรัม ถ้าตัดตรงจุดนี้ไป น่าจะได้ 9 ต้นๆ ถือว่าทำได้ดีพอๆ กับรถในระดับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เลยทีเดียว กับเครื่องยนต์แค่ 1.3 ลิตร + แรงจากมอเตอร์ไฟฟ้าอีก ทำได้เท่านี้ถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว และเมื่อเหยียบเบรกจนความเร็วเป็นศูนย์ เครื่องยนต์จะถูกตัดการทำงานทันที ไฟโชว์ Auto Stop ก็จะโชว์ขึ้น แต่เมื่อถอนเท้าออกจากเบรกเมื่อไร เครื่องยนต์ก็จะติดและทำงานทันที ซึ่งตรงนี้ในบางจังหวะเรา จะต้องออกตัวต่อเลย จะทำให้รู้สึกน่ารำคาญเสียจังหวะอยู่เหมือนกัน แถมบางครั้งเหยียบเบรกค้างไว้รอไฟแดง ยังไม่ถึง 90 วินาที เพียงแค่ไม่กี่วินาที เครื่องยนต์ก็กลับมาทำงานอีกแล้ว เพราะว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารที่สูงขึ้น นั่นเองทำให้ระบบเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติต้องเปิดคอมเพรสเซอร์แอร์ ให้เครื่องปรับอากาศทำงานต่อเพื่อรักษาอุณหภูมิ ถ้าเป็นไปได้น่าจะทำ Idling Stop ในช่วงที่รถมีการเข้าเกียร์ N มากกว่า เพราะเวลาจอดติดไฟแดง หรือจอดรถนานๆ คนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าเกียร์ N ไม่อยากเหยียบเบรกไว้ตลอด มันเมื่อยเท้า รวมถึงอันตรายอีกด้วย หรือจะทำให้ดูไฮโซหน่อย ก็ควรทำปุ่ม On-Off ไว้เลย แต่สงสัยคงต้องอัพราคากันอีก

DSC_0053_resize

สำหรับด้านความสัมพันธ์รอบเครื่องที่ได้นั้น ได้ทดลองความเร็วที่ 3 ค่า ได้ดังนี้ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง=1500รอบ/นาที 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง=2000รอบ/นาที 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง=2500รอบ/นาที ในส่วนระบบส่งกำลังเปลี่ยนกลับมาใช้เป็นเกียร์อัตโนมัติ CVT อีกครั้ง (แต่ไม่ใช่ลูกที่ใข้ใน Jazz ตัวแรก) ทำให้อาการกระชากโฮกฮากที่พบใน Jazz Generation 2 นั้นหายไปเป็นปลิดทิ้ง ขับได้ไหลลื่น นิ่มนวลดีตามที่ รถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT ควรจะเป็น รวมถึงความ Smooth ที่ได้ ทำให้รอบการเปลี่ยนเกียร์นั้นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีตก ส่งผลให้อัตราเร่งนั้น ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิด

เบรกนั้นเป็นแบบ หน้าดิสก์แบบระบายความร้อน และหลังเป็นดรัมเบรก การเบรกนั้น ต้องขอบอกว่า ทำได้แบบทั่วๆไปที่ควรจะเป็นในแบบหลังดรัม แต่ความรู้สึกที่ได้ยังไม่ดีเท่า Jazz ตัวปกติ เวลาเบรกลึกไปหน่อยน่าจะทิ่มไปพอสมควร ถ้าไม่อยากให้เบรกหน้าทิ่มจึกแบบนี้ คงต้องใช้ปลายเท้าค่อยๆแตะเบรกแล้วถอนออก และย้ำเข้าไปใหม่อีกที น่าเสียดายจริงๆ เพราะ Jazz ปกติตัวต่ำสุดยังให้เป็นหลังดิสก์เลย

ด้าน Feeling Handling นั้น พวงมาลัยค่อนข้างเรียบจากวัสดุแบบ Polyurethane ทำให้การจับนั้นยังไม่ค่อยกระชับนัก น้ำหนักของพวงมาลัยนั้นค่อนข้างเบา แต่ก็ไม่ได้เบาหวิวอะไรมากมาย เมื่อความเร็วเพิ่มมากขึ้น พวงมาลัยก็จะหนืดขึ้นซึ่งก็ถือว่าน้ำหนัก ok พอใช้ ไม่ได้รู้สึกว่าเวลาใช้ควมเร็วสูงต้องใช้มือเกร็งจับพวงมาลัยกันจนแน่น ระยะฟรีของพวงมาลัยก็ไม่มาก จนทำให้เสียการควบคุมเกินไป

มาพูดถึงช่วงล่างกันบ้าง ด้านหน้าเป็น McPherson Strut ตามพิมพ์นิยม ด้านหลังเป็น Torsion Beam H Type มันเหมือนกันกับตัว Jazz ปกติ แต่ก็น่าแปลกใจเพราะว่า ความรู้สึกที่ได้มันกลับนุ่มนวลขึ้นอย่างรู้สึกได้ ทั้งที่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าทางด้านหน้าและแบตเตอรี่ที่ด้านหลัง น่าจะต้องทำการเซ็ตให้ช่วงล่างดูแข็งขึ้นเพื่อไม่ให้ท้ายย้วย แต่ Feeling นั้นทำได้ค่อนข้างน่าประทับใจ และน่าจะถูกใจคนใช้งานรถบ้านอเนกประสงค์ทั่วๆ ไปทีเดียว แต่ทว่าถ้าเจอทางขรุขระ แล้วกระโจนลุยเข้าแบบไม่ยั้ง ถ้าทำเช่นนนั้น ก็คงจะรู้สึกไม่แตกต่างจาก Jazz ตัวปกติเท่าไรนัก เมื่อได้ลองเทโค้งกว้างๆ เพื่อดูการยวบยาบของช่วงล่าง เทไปประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงโดยไม่แตะเบรก ทำเอาผู้โดยสารต้องโหนมือจับประตูกันทีเดียว เสียงยางบดกับพื้นถนนดังออกมาให้ได้ยินบ้างเล็กน้อย อาการหน้าบานออกค่อยๆ แถออกเป็น Under Steer มีให้เห็นตามแบบฉบับรถขับหน้า แต่อาการโคลงเคลงของตัวรถนั้น ดูจะทำได้ดีกว่า Jazz ตัวปกติด้วยซ้ำ ถึงแม้ช่วงล่างจะนิ่มกว่าเดิม แต่มันไม่ได้โคลงเคลงมากนัก ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดในการเทโค้งที่ความเร็วค่อนข้างสูงเช่นนี้ แต่ถ้าวิ่งทางตรง ที่ความเร็วมากกว่า 120 กิโลเมตร/ลิตรขึ้นไป จะเริ่มรู้สึกว่ารถไม่ค่อยเกาะถนนเท่าไรนัก หรือเวลามีรถใหญ่สวนมา จะรู้สึกได้ถึงแรงสะเทือนที่มีต่อตัวรถ

สรุป Honda Jazz Hybrid ทำออกมาเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการออกรถที่ประหยัดเชื้อเพลิง ที่ไม่ต้องการรถในระดับ Eco car แต่งบไปไม่ถึงหลักล้าน มันตอบโจทย์ให้กับคนกลุ่มนี้ สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจาก Jazz ตัวปกติ คือ การขับที่สบายขึ้น ทั้งการเซ็ตช่วงล่างที่นุ่มนวลกว่าเดิม และการหันมาคบกับเกียร์ CVT ทำให้การเปลี่ยนเกียร์นั้นไหลลื่นดีขึ้น, สมรรถนะอัตราเร่งที่ทำได้ดีพอๆ กับรถยนต์เครื่อง 1.5L, ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ, ระบบ Idling Stop, และเทคโนโลยีไฮบริด กับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจาก Jazz ตัวท็อป ปกติราว 6 หมื่นบาท ถือว่าคุ้มค่าอยู่เหมือนกัน แต่ก็ขอติในบางจุดที่น่าจะเอา Option ตัวท็อปมาใส่ให้ แล้วทำการอัพราคาเพิ่มไปสักหน่อย อย่างเช่น กระจกพับไฟฟ้า, ไฟส่องแผนที่, ที่เท้าแขน และที่น่าตกใจเบรกหลังเป็นดรัม ทั้งๆที่ในตัว Jazz ปกติ ทุกตัวเป็นดิสก์เบรกหมดเลย 2 จุดนี้รับไม่ได้จริงๆ กับรถที่ใช้ เทคโนโลยีไฮบริด น่าจะทำออกมาให้ดูดีกว่านี้สักหน่อย ราวกับว่าทาง Honda พยายามจะลด Cost ให้ได้มากที่สุด แต่โดยรวมแล้วเมื่อเทียบกับค่าตัว 768,000บาท กับสิ่งที่ได้มาทั้งหมด ก็ถือว่าสมราคาแล้ว กับรถยนต์ไฮบริดอเนกประสงค์คันนี้

ภณ เพียรทนงกิจ (พล autospinn) ผู้เขียน


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ