รีวิว Nissan Sylphy 1.6 ลิตร ขับทดสอบประหยัดน้ำมัน กรุงเทพฯ – ศรีราชา Share this
รีวิวรถยนต์
โหมดการอ่าน

รีวิว Nissan Sylphy 1.6 ลิตร ขับทดสอบประหยัดน้ำมัน กรุงเทพฯ – ศรีราชา

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 25 November 2555

หลังจากที่วันก่อน AutoSpinn ได้นำเสนอการขับทดสอบ Nissan Sylphy 1.6 ลิตร แบบ group test ไปแล้ว แต่ในครั้งนั้นเป็นภาพรวมของการขับทดสอบโดย Nissan ประเทศไทย ในวันนี้เราจึงขอเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของการทดสอบในวันดังกล่าวในมุมมองของทีมงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทาง Nissan Motor ประเทศไทย ได้ทำการเปิดตัวรถยนต์ Nissan Sylphy ใหม่ “สุนทรียภาพ แห่งการขับขี่ที่เหนือระดับ” ซึ่งได้พรีเซ็นเตอร์ อย่างคุณชมพู่ และคุณโป้ป มาสื่อให้เห็นถึงภาพความงามหรูหราจากภายนอก รวมถึงความสบายกว้างขวางจากภายใน ซึ่งทาง Autospinn ของเรา ก็ได้รับเชิญให้ไปร่วม Test Drive แบบ Group Test ในตัวเครื่องยนต์ 1.8 ไปไกลกันถึงเชี่ยงใหม่ ช่วงกลางเดือนกันยายน กันไปเรียบร้อย มาคราวนี้ถึงคราว ตัว 1.6 กันบ้าง แต่เป็นแบบ Eco Driving เพื่อเป็นการทดสอบอัตราสิ้นเปลือง สำหรับเครื่องยนต์ 1.6 ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีหัวฉีดคู่ ใหม่ ซึ่งจะต้องมาดูกันว่าจะช่วยเพิ่มความประหยัดได้มากขึ้นเพียงใด

สำหรับในวันนี้ เมื่อมาถึงทำการลงทะเบียนเรียบร้อย ก็รอฟังในส่วนเทคนิคการขับขี่แบบ Eco Drive ซึ่งได้เน้นสรุปเป็น 3 ข้อหลักๆ คือ

1. ในช่วงออกตัว ให้ปล่อยให้รถเคลื่อนตัวไปก่อน 1 วินาที แล้วจึงค่อยเดินคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ใช้เวลา 5 วินาที ในการทำความเร็วจาก 0-20กม./ชม.

2. พยายามใช้ความเร็วที่คงที่ และการควบคุมคันเร่งให้นิ่ง

3. ถอนคันเร่งออกให้เร็วขึ้นเมื่อเห็นระยะเบรกมาแต่ไกล รวมถึงในจังหวะลงเนินก็ด้วยเช่นกัน ถอนคันเร่งปล่อยให้รถไหล

ซึ่งถึงแม้ว่า 3 ข้อดังกล่าว อาจจะทำจริงในตัวเมืองได้ค่อนข้างลำบากมาก แต่ในการขับขี่แบบ Eco Drive ในครั้งนี้ก็เกินที่คนธรรมดาทั่วไปจะขับกัน ทั้งการเดินคันเร่งออกตัว, การแตะเบรกที่แทบจะนับครั้งได้, การปล่อยรถไหลลงเนิน, การใช้ความเร็วเพียง 60-80กม./ชม. เต็มที่ไม่เกิน 90กม./ชม. หลังจากที่ได้ฟังแนวทางการขับกันไปเรียบร้อย ก็ลงมาที่ลานจอดรถ ทำการเติมน้ำมันให้ล้นเอ่อออกมาถึงคอถัง ก่อนที่จะทำการปิดผนึกฝาถัง และพร้อมวิ่งออกจากโชว์รูม Nissan เพชรบุรีตัดใหม่ ออกมาเลี้ยวเข้ารัชดาภิเษก มุ่งหน้าไปพระราม9 แล้วออกเส้น Motor way โดยแวะพักรถที่จุดพักรถบน Motor way ก่อน จึงเดินทางต่อ จนมาเติมน้ำมันอีกครั้ง เพื่อวัดอัตราสิ้นเปลืองที่ปั๊มปตท.ศรีราชา

นับเป็นระยะทางทั้งหมด 121.7กม. รถหมายเลข 04 ของเราเติมน้ำมันเข้าไป 3.849 ลิตร กินน้ำมันจุ 31.62กม./ลิตร ค่านี้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งกลุ่มที่คิดคำนวน อยู่ที่ 34.58กม./ลิตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่พอสมควร ทำได้น้อยกว่าราว 9% ซึ่งโดยส่วนตัวยังแอบแปลกใจ ว่าทำไมมันต่างกันเยอะขนาดนั้น ถ้าไม่ได้เป็นที่เท้าของผู้ขับ ก็อาจเป็นที่เกณฑ์ในการเติมน้ำมันล้นถึงคอถัง เพราะผู้ขับ ขับช้ามาก ช้ากว่าคันอื่นหลายคัน รวมถึงในจังหวะขึ้นเนิน ก็เลี้ยงคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อนไปแผ่วเบามาก จนรถในกลุ่มที่มา Eco Drive ด้วยกันบางคัน ถึงขนาดต้องขอแซง แต่ทว่ากลับเติมน้ำมันเข้าไปมากกว่ารถหลายๆ คันนั้น ไม่ก็เป็นได้อีกกรณี คือ ในช่วงแรก ที่รถติดหนาแน่นการจราจรคับคั่งในตัวเมือง ทางผู้ขับอาจมีการเหยียบเบรกและออกตัวบ่อยกว่าคันอื่นๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในส่วนนี้อาจทำได้แย่กว่าคันอื่นหลายคัน

หมายเหตุ น้ำมันที่ใช้เป็นแก้สโซฮอล์ 95 และรถทุกคันมีผู้นั่งโดยสารไปด้วยอีกหนึ่งคน และการขับขี่เป็นแบบสไตล์ Eco Driving ซึ่งได้กล่าวไปข้างต้น

มาพูดในส่วนของการ Test Drive ของเจ้ารถยนต์ Sylphy คันนี้กันบ้างครั้งนี้ได้รถหมายเลข 04 ซึ่งเป็นรุ่น 1.6 E สีขาว เป็นรุ่นรองท๊อป ของตัว 1.6 ซึ่งภายนอกนั้นที่เห็นจะแตกต่างชัดเจนนั้น คือ ไม่มีไฟตัดหมอกมาให้อย่างรุ่นท๊อป และคิ้วไฟหน้านั้นไม่ใช่ไฟ LED รวมถึงไม่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ นอกนั้นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระจกมองข้างแบบไฟเลี้ยวในตัว เพียงแต่เวลาล๊อครถแล้วหูกระจกจะไม่พับให้อัตโนมัติ เหมือนอย่าง 1.6V และ 1.8 สำหรับภายในนั้นแตกต่างมากพอสมควร คือเบาะเป็นวัสดุผ้า และวัสดุภายในเป็นสีเงิน ไม่ใช่ลายไม้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศตอนหลัง ระบบปรับอากาศเป็นแบบ Manual ไม่ใช่แบบอัตโนมัติ พวงมาลัยเป็นยูรีเทน ไม่ใช่หนัง แต่ยังคงมีปุ่มปรับเครื่องเสียงและ จอ MID ให้ เบาะตอนหลังไม่สามารถพับได้ พนักพิงศรีษะตอนหลังก็ไม่สามารถแยกออกได้ ไม่มีที่เท้าแขนผู้โดยสารตอนหลัง ที่บังแดดเบาะคู่หน้าไม่มีไฟส่องสว่าง กุญแจเป็นกุญแจรีโมท ไม่ใช่กุญแจอัจฉริยะ เครื่องเสียงเป็นแบบ 1din ไม่รองรับ USB และไม่มีระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ Bluetooth ลำโพงเครื่องเสียงมีมาให้ 4 ตัว นอกนั้นในเครื่องความปลอดภัยมีมาให้ เหมือนกันหมด ต่างเพียงเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ไม่มีระบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ ดูๆไปแล้วสำหรับ Option ภายในถ้าไม่ใช่รุ่น Top หรือในตัวเครื่องยนต์ 1.8 ถือว่าโดนตัดหายไปเยอะพอสมควรทีเดียว ซึ่งถ้าอยากได้ความสบาย ควรที่จะต้องควักกระเป๋าเพิ่มหน่อยแลกกับ Option ภายในที่จะได้รับ ที่เป็นจุดขายของ Sylphy เอาล่ะ

สำหรับเครื่องยนต์ที่พัฒนามาใหม่ รหัส HR16DE ขนาดความจุ 1598cc ซึ่งมากับเทคโนโลยีหัวฉีดคู่/กระบอกสูบ โดยลดขนาดหัวฉีดให้เล็กลง เพื่อเพิ่มการฉีดจ่ายน้ำมันแบบเป็นละอองฝอยมากขึ้น และกินพื้นที่ในวงกว้างกว่าแบบหัวฉีดเดี่ยวทั่วไป ส่งผลให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ดียิ่งขึ้น สำหรับเทคโนโลยีนี้ ถือว่าได้นำมาใช้กับ Mass Production Car เป็นคันแรก ซึ่งที่จริง Nissan ได้เปิดเผยแพร่เทคโนโลยีตัวนี้เอาไว้ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน สำหรับเครื่องยนต์ HR16DE นี้ Nissan ได้เคลมว่าประหยัดกว่าเครื่องยนต์ 1.6 บล๊อกเดิมถึง 15% สามารถสร้างแรงม้าได้สูงสุด 116ตัว ที่ 5600rpm และแรงบิด 154Nm ที่ 4000rpm ซึ่งในเรื่องความประหยัด จากที่ขับแบบ Eco Drive มาถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดมากทีเดียวตามที่ได้กล่าวถึงอัตราสิ้นเปลืองไปแล้วข้างต้น แต่ถ้าขับแบบธรรมดาทั่วๆไป ในตอนขากลับ เหยียบแช่ 130กม./ชม. ตลอดทางบน เส้น Bypass จนมาลงทางด่วนพระราม 9 เลขบอกอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอโชว์ 16.7กม./ชม. ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยังดีอยู่ มาพูดถึงด้านสมรรถนะการเร่งแซง กันบ้าง เท่าที่ได้ลองเหยียบๆ เร่งแซงดู พบว่ารถนั้นดูจะไม่มีกำลังเอาเสียเลย กดคันเร่งจมมิดรอบพุ่งไปค้างที่ราว 5800rpm แต่ดันไม่ตัดขึ้นเกียร์ให้ พร้อมกับความเร็วทีคาอยู่ที่เดิม ซึ่งต้องทำการถอนคันเร่งเองเพื่อจะได้ตัดขึ้นเกียร์ไป แต่ทว่าพอถอนคันเร่งปุป รอบเครื่อง Drop ลงทันที เพราะเป็นการ Shift เกียร์ข้ามขึ้นไปทีเดียว 2 เกียร์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีนักถ้าต้องการขับแบบเอาอัตราเร่งแบบเน้นรอบมาต่อเนื่อง ทำให้ต้องกระแทกคันเร่งต่อให้เพื่อ Kick Down เกียร์ลงไปอีก ถึงแม้การตอบสนองของคันเร่งนั้นจะค่อนข้างเร็วไม่ช้า ลองดูอัตราเร่งกันซะหน่อย ในช่วง 80-120กม./ชม. ตามมาตรวัด ทำได้ใน 8.90วินาที ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ในใจ เนื่องจากการใช้ความรู้สึกวัดนั้นที่คิดไว้ดูจะอืดกว่านี้มาก แต่พอดูจากตัวเลขที่ได้ ใกล้เคียงกับ Ford Fiesta 1.5 มากๆ ถือว่าทำได้ ok กับรถเครื่องยนต์เพียง 1.6 แต่ต้องแบกรูปร่างสรีระที่ใหญ่ที่สุดใน C-segment ซึ่งส่วนหนึ่งที่ต้องชื่นชม คือ การตอบสนองที่มาฉับไว ทันใจ ของเกียร์ลูกนี้ กด Kick Down ปุป รอบตวัดกวาดมาให้ใช้แบบทันใจ เร่งแซงได้ไม่ลำบากนัก แต่จากที่ได้บอกไปจุดที่เริ่มจะน่ากลัวคือ ถ้าไม่สามารถเร่งแซงได้ภายในรอบราวๆ 5500rpm แล้ว ความน่ากลัวจะเริ่มมาเยือนเพราะเมื่อกดถึง 5800rpm แล้วรอบค้างความเร็วไม่ขึ้น ถ้าถอนคันเร่งปุปความรอบห้อยทันที ซึ่งถ้าแซงไม่พ้นอาจเกิดอันตรายในช่วงนี้ได้ และจากการลองวัดค่าหาแรงม้าจากอุปกรณ์ OBD II Bluetooth ได้แรงม้าสูงสุดออกมาที่ 89.2ตัว ที่ 4850rpm กับแรงบิด 119ปอนด์-ฟุต ที่ 2175rpm ซึ่งวัดโดยทำการเสียบ OBD II เข้ากับพอร์ทรถตลอดเดินทางกลับจาก ศรีราชา จนถึงโชว์รูมเพชรบุรีตัดใหม่

ในส่วนของรอบเครื่องยนต์ ได้ทำการวัดที่ความเร็ว 3 ค่าบนหน้าปัด คร่าวๆ ได้ดังนี้ 80กม./ชม.= 1200rpm 100กม./ชม.=1750rpm 120กม./ชม.=2050rpm ซึ่งรอบที่ได้นี้ค่อนข้างต่ำมาก และใกล้เคียงกับตัว 1.8 มากๆ หรืออาจจะไม่ต่างกันเลย ถือว่าเกียร์ X-tronic CVT นี้ทำอัตราทดออกมาได้ต่ำ เพื่อเน้นเพื่อขับขี่อย่างประหยัดแท้จริง รวมถึงมอบสุนทรีย์ในการขับขี่ที่นุ่มนวลขับขี่ได้อย่างสบาย ไม่กระชากให้รู้สึกทำลายบรรยากาศของการขับรถยนต์ที่มีระดับสุดใน Compact Car แต่อย่างว่าในด้านความเร็วปลายนั้นก็อาจขาดหายไป รวมถึงจังหวะเร่งแซง แล้วผ่อน ความเร็วรอบห้อยตลอด เนื่องจากการที่เกียร์นั้นได้ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดสำหรับการขับประหยัดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่ถอนคันเร่งเกียร์จะให้เครื่องยนต์ช่วย Engine Brake เพื่อช่วยเสริมในเรื่องความประหยัดยิ่งขึ้นไปอีก แต่จากที่ได้กล่าวไป ก็แลกกับข้อเสียคือ อัตราเร่งที่มาไม่ต่อเนื่องในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ ดังนั้นการที่จะใช้งานเจ้า Sylphy แบบกระแทกกระทั้น เค้นสมรรถนะอัตราเร่ง คงไม่ใช่สิ่งที่จะเหมาะสมกันนัก กับเกียร์ X-tronic CVT ลูกนี้

ด้าน Handling กับรู้สึกแตกต่างกับตัวเครื่องยนต์ 1.8 ที่ได้ขับมาชัดเจน คือ พวงมาลัยไม่เบาหวิว ในช่วงความเร็วสูงขึ้น เมื่อใช้ความเร็วราว 130กม./ชม. ยังรู้สึกหนักแน่น หนืดดี ระยะฟรีก็ไม่มากด้วย สามารถขับใช้ความเร็วสูงแบบปล่อยมือ หรือขับแบบสบายๆผ่อนคลายไม่ต้องเกร็งได้ ไม่รู้ว่าทางทีม Engineer ได้ไปทำการเซ็ต Steering ใหม่ มาหรือเปล่าจากที่ได้เคย Comment กันไปเมื่อ Group Test ในตัว 1.8 คราวก่อน สำหรับที่ความเร็วต่ำและจังหวะรถเคลื่อนออกตัวยังเบาสบาย สาวติดมือง่ายเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน

สำหรับแป้นเบรกยังออกแนวนุ่มนวลดีเหมือนเดิม แต่ยังรู้สึกไม่ค่อยหนึบแน่นติดเท้ามากเท่าไร ในช่วงหยุดติดไฟแดงหรือจะหยุดจอด ในจังหวะสุดท้ายอาจจะต้องเน้นลงน้ำหนักเท้าลึกเพิ่มลงไปเล็กน้อยจึงจะหยุดได้อย่างแน่นิ่ง แต่การขับแบบทั่วๆไปนั้น ยังเหยียบลงน้ำหนักได้อย่างนุ่มนวล แป้นเบรกไม่รู้สึกแข็ง สามารถค่อยๆแตะเลียเท้าเอาได้ เพราะช่วงที่ขับ Eco Drive แทบจะนับครั้งเหยียบเบรกได้ พอจังหวะใกล้จะถึงรถคันหน้าก็ใช้วิธีถอนคันเร่งเอา ซึ่งจะมี Engine Break จากความฉลาดของเกียร์ X-tronic CVT คอยช่วยอยู่เล็กน้อย และเมื่อใกล้จะถึงจิงๆ ค่อยๆเลียแป้นเอาอย่างแผ่วเบา เพราะไม่ได้ขับเร็ว ฟีลลิ่งเบรกยังคงนุ่มนวลเหมือนเดิม ไม่ผิดเพี้ยนจากตัว 1.8

ช่วงล่างจากที่ได้ลองสมัผัสอีกครั้งในคราวนี้ กลับรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงนัก ช่วง Eco Drive ขับช้าโดนรถใหญ่แซง รู้สึกว่าตัวรถมีอาการส่ายออกมาแบบสัมผัสได้ โดยส่วนตัวคิดว่ารถที่มีมิติตัวถังใหญ่สุดใน Compact Car อย่าง Sylphy ไม่น่าจะมีอาการนี้ออกมาให้เห็นมากนัก และในช่วงเข้าโค้ง รถค่อนข้างโคลงโยนตัวออกมาชัดเจนพอสมควร ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วงล่างที่เน้นนุ่มสบายไม่ได้แข็งนัก จึงทำให้รถอาจยวบโคลงตัวไปบ้าง และในช่วงที่ขับบน By pass ใช้ความเร็วประมาณ 130กม./ชม. รถเริ่มรู้สึกไม่ค่อยเกาะถนนแน่นเท่าใดนัก แต่ในเรื่องการเก็บเสียงนั้นยังคงทำได้ดีอยู่เหมือนเดิม ที่ความเร็วสูงไม่ค่อยมีเสียงลมเล็ดลอดมามากนัก รวมถึงเสียงจากพื้น ซึ่งพอมีเสียงยางให้ได้ยินบ้างเล็กน้อย

สรุป การที่ได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ร่วมทดสอบการขับขี่แบบ Eco Drive เพื่อหาอัตราสิ้นเปลืองของ Nissan Sylphy 1.6 นี้นั้น ถือว่าสอบผ่านฉลุย เพราะอัตราสิ้นเปลืองที่ระดับนี้ เทียบได้กับการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในบางรุ่น หรือรถยนต์ที่ติดแก้ส เพราะอัตราค่าใช้จ่ายตก กม.ละ บาทเศษๆเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการขับขี่ใช้จริงแบบปุถุชนคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้ปั้นตัวเลขกันนั้น ก็คงอาจจะต้องหารสอง กันลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่า ค่อนข้างประหยัดอยู่ดี และประหยัดมากถึงมากที่สุด ถ้าเทียบกับรถ Compact ที่พิกัด 1.6 เช่นเดียวกัน และยังคงให้ความสะดวกสบาย รวมถึงความหรูหราได้มากกว่า แต่ในด้านสมรรถนะของช่วงล่างนั้นอาจจะนำไปเปรียบกันไม่ได้ เพราะจุดขายของแต่ละคันนั้นมีความแตกต่างกัน Nissan Sylphy 1.6 เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน ขั้นเตรียมสร้างครอบครัว และอยากได้ความสะดวกสบายที่มากที่สุดในระดับที่พวกเขาพึงหาได้ รวมถึงความประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยมด้วย ซึ่งที่ว่ามานี้ตรงกับจุดขายที่ Nissan ได้เคลมข้อดีเอาไว้ว่า “Sylphy เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลางที่ให้ความคุ้มค่ามากที่สุด 1.ขนาดใหญ่สุดทุกมิติ ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงพ้นที่ใช้สอยมากที่สุด 2.หรูหรา มีอุปกรณ์มาตรฐานมากที่สุด (ในรุ่นสูงสุด) 3.ค่าบำรุงรักษาและค่าอะไหล่ถูกที่สุด 4.ประหยัดน้ำมันที่สุด” ทั้งหมดนี้จะเพียงพอที่จะให้ Nissan กับมาในตลาดรถยนต์นั่ง Compact Car ได้อย่างเต็มภาคภูมิ หรือไม่ คงต้องมาปูเสื่อนอนรอชมกันยาวๆ เพราะว่า Nissan นั้นเตรียมทีเด็ดเปิดตัว Compact Car อีกรุ่นในตัวถัง Hatchback ที่จะมาทำตลาดแทน Nissan Tida นั่น คือ Nissan Pulsar ซึ่งจะเป็นอีกคัน ที่มาช่วยเสริมทัพให้กับ Nissan ในการเจาะตลาด C-Segment ก่อนสิ้นปีนี้ โดยเริ่มเปิดตัวให้ยลโฉมกันครั้งแรกในบ้านเราที่งาน Motor Expo ปลายเดือนนี้

Nissan Sylphy มีให้เลือกทั้งหมด 6 สี สีเทา (Deep Iris Grey), สีขาวมุก (White Pearl), สีดำ (Black Star), สีเงิน (Brilliant Silver), สีแดง (Radiant Red), สีบรอนซ์ (Greyish Bronze)

มากับราคาทั้ง 6 รุ่นย่อยดังนี้

• 1.6 S M/T 746,000 บาท

1.6 S CVT 776,000 บาท

1.6 E CVT 799,000 บาท

1.6 V CVT 833,000 บาท

1.8 V CVT 899,000 บาท

1.8 V Navi CVT 931,000 บาท

ภณ เพียรทนงกิจ (พล autospinn) ผู้เขียน


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ