[Test Ride] Yamaha MT-10 พี่ใหญ่สุดในตระกูล MT ซัดตึงทุกเกียร์ หล่อเฟี้ยวไม่เหมือนใคร Share this
รีวิวมอเตอร์ไซค์
โหมดการอ่าน

[Test Ride] Yamaha MT-10 พี่ใหญ่สุดในตระกูล MT ซัดตึงทุกเกียร์ หล่อเฟี้ยวไม่เหมือนใคร

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 21 November 2561

เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นล้วนแล้วแต่ทราบดีถึงกิตติศัพท์ของรถบิ๊กไบค์ในตระกูล MT หรือ Master of Torque จากค่ายส้อมเสียง Yamaha ซึ่งมีการผลิตรถออกมาในทุกเซกเม้นต์ของตลาด และในวันนี้เรามาอยู่กับรุ่นใหญ่ที่สุดในตระกูลอย่าง Yamaha MT-10 ซึ่งจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราไปชมกันครับ


 

ตำนานแห่งรถสองล้อพลังแรงบิดสุดโหด เมื่อพูดถึงเรื่องแรงบิดอันดุดันของมันนั้นหลายๆ คนที่ขับขี่รถบิ๊กไบค์หรือได้เคยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรถบิ๊กไบค์นั้นคงจะทราบกันดีถึงรถในตระกูล Master of Torque กันเป็นอย่างดีจากค่าย Yamaha หรือที่เรียกชื่อย่อกันสั้นๆ ว่า MT Series นั่นเอง ซึ่งประวัติความเป็นมาของมัน กว่าจะมาถึง MT-10 รุ่นปัจจุบันนั้น ต่างมีประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวรถมากว่า 20 ปีด้วยกัน ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราค่อยๆ มาชมกันไปทีละช่วง ก่อนจะมารู้จักกับ MT-10 รุ่นที่เราจะมารีวิวกันในบทความนี้ครับ

 

Yamaha MT-01

จุดเริ่มต้นของรถตระกูล Master of Torque ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1999 ภายในงาน Tokyo Motor Show 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่โลกแห่งสองล้อได้รู้จักรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดจากค่ายส้อมเสียง ที่จะพลิกโฉมหน้าของรถในตระกูล Naked ของทางค่ายในปัจจุบันไปเลยทีเดียว โดยทาง Yamaha ได้นำเสนอคอนเซปการออกแบบ Kodo Design ของรถรุ่นใหม่ล่าสุดในนาม Yamaha MT-01 ซึ่งในยุคนั้นคำว่า MT ย่อมาจากคำว่า Mega Torque จัดเป็นยุคเริ่มต้นของรถในตระกูล MT ถึงปัจจุบัน

 

 

Yamaha MT-01 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ V-Twin 2 สูบ 4 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยอากาศ มาพร้อมปริมาตรกระบอกสูบ 1,670 ซีซี มอบพละกำลังสูงสุดที่ 93 แรงม้า ที่ 4,750 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดถึง 150 นิวตันเมตร ที่ 3,750 รอบ/นาที !!! จัดว่าเป็นรถที่มีแรงบิดที่สูงสุดที่ในตระกูล แม้กระทั่งรุ่นน้องในปัจจุบันก็ยังมีแรงบิดไม่สูงเท่าเจ้า MT-01 คันนี้ ขับเคลื่อนผ่านระบบเกียร์ 5 สปีด ส่งกำลังผ่านโซ่ สามารถทำความเร็วได้สูงสุดที่ 210 กม/ชม.

 

 

หลังจากการเผยโฉมคอนเซปไบค์ในงาน Tokyo Motor Show 1999 เจ้า Yamaha MT-01 สร้างกระแสฮือฮาในหมู่ผู้เสพติดรถบิ๊กไบค์ในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทาง Yamaha ทำแผนที่จะผลิตเจ้า MT-01 ออกมาจำหน่ายในตลาดอย่างจริงจัง โดยในปี 2004 เจ้า MT-01 ก็ได้รับรางวัล Motorcycle Design ในงาน INTERMOT

ในปี ค.ศ. 2005 จึงเป็นปีแรกที่ Yamaha MT-01 ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในตลาดบางประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ประเทศกลุ่มทวีปยุโรป, อินเดีย, ญี่ปุ่น และบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังทาง Yamaha สหรัฐอเมริกาได้แต่งองค์ทรงเครื่องเป็น Yamaha Warrior XV1700 ซึ่งเป็นรถแนวครุยเซอร์ โดยใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกับ MT-01 มาติดตั้ง เนื่องด้วยในสหรัฐอเมริกายุคนั้นมีความนิยมรถสไตล์ครุยเซอร์มากกว่าทรงเน็กเก็ต

 

 

ในยุคที่ Yamaha MT-01 วางจำหน่ายอยู่ ถูกแบ่งรุ่นย่อยออกมาทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

- แบบที่ 1 : มาพร้อมท่อไอเสียคู่จาก Akrapovic, แผ่นป้องกันความร้อน, เบาะนั่งเดี่ยว, แผ่นป้ายทะเบียนแบบสั้น

- แบบที่ 2 : มาพร้อมท่อไอเสียจาก Akrapovic แบบ Full system, แผ่นป้องกันความร้อน, เบาะนั่งเดี่ยว และกล่อง ECU ควบคุมตัวรถแบบสำหรับใช้งานในสนามแข่งขัน

- แบบที่ 3 : เป็นชุดเพิ่มประสิทธิภาพของตัวรถให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นวาล์ว, แผ่นคลัช, หัวลูกสูบแรงดันสูง, แคมชาร์มแบบประสิทธิภาพสูง และกล่อง ECU ควบคุมตัวรถขั้นสูง

ในปี 2009 Yamaha ได้ปล่อย MT-01 SP ออกมา โดยมาพร้อมกับชุดช่วงล่างจาก Ohlins, ยาง Pirelli Diablo Rosso และมาพร้อมกับสีพิเศษในยุคนั้น ก่อนที่จะยุติสายการผลิตไปในปี 2012

 

 

Yamaha MT-03

Yamaha MT-03 เผยโฉมครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 ด้วยเครื่องยนต์แบบ 1 สูบ SOHC 4 วาล์วต่อสูบ ขนาด 660 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ มอบพละกำลังสูงสุด 45 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 56 นิวตันเมตร ที่ 5,250 รอบ/นาที ขับเคลื่อนผ่านเกียร์ 5 สปีด ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กม/ชม. โดยเจ้าโมเดลนี้อยู่ในสายการผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 จนถึง 2014 ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมเป็นเครื่องยนต์แบบ 2 สูบเรียง 321 ซีซี ขับเคลื่อนผ่านเกียร์ 6 สปีด จนถึงปัจจุบัน

 

 

Yamaha MT-07

Yamaha MT-07 เผยโฉมครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 เป็นรถบิ๊กไบค์รุ่นเริ่มต้นของทาง Yamaha รุ่นใหม่ในตระกูล Master of Torque มาพร้อมกับเครื่องยนต์ใหม่แบบ Crossplane crankshaft ขนาด 689 ซีซี 2 สูบเรียง 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ มอบพละกำลังสูงสุด 74 แรงม้า ที่ 9,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 68 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนผ่านเกียร์ 6 สปีด

 

 

นอกจากนี้ยังแตกแขนงออกไปอีก 2 โมเดล ได้แก่ Tracer 700 ซึ่งเป็นรถทัวร์ริ่ง และ Tenere 700 ซึ่งเป็นรถแนวแอดเวนเจอร์

 

 

[EICMA] Yamaha เผยโฉม Tenere 700 เจ้าตั้กแตนน้อยสายลุย เอวบางร่างน้อย แต่แรงไม่แพ้ใคร

 

Yamaha MT-09

Yamaha MT-09 เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 และเป็นรุ่นแรกของตระกูลนี้ที่มมาพร้อมกับเครื่องยนต์ Crossplane 3 สูบเรียง โดยเจ้าตระกูล MT-09 นี้ มีเชื้อสายมาจากรถในรหัส FZ หรือ Fazer ซึ่งเราจะขอพูดเรื่องนี้ในโอกาสถัดไป
โดยเจ้า MT-09 มาพร้อมกับเครื่องยนต์แบบ Crossplane 3 สูบเรียงขนาด 847 ซีซี 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ขับเคลื่อนผ่านเกียร์ 6 สปีด มอบพละกำลังสูงสุดถึง 115 แรงม้า ที่ 10,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดถึง 88 นิวตันเมตร ที่ 8,800 รอบ/นาที

 

 

Yamaha MT-15 (M-Slaz)

Yamaha MT-15 หรือ M-Slaz ที่เรารู้จักกัน ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 2015 โดยเป็นรถจักรยานยนต์ในตระกูล MT รุ่นเล็กที่สุดในตลาดบ้านเรา โดยในช่วงแรกสมัยเป็น M-Slaz จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1 สูบ ขนาด 150 ซีซี แต่ต่อมาในปี 2018 นี้ ได้ปรับเปลี่ยนรหัสเป็น MT-15 ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1 สูบ ขนาด 155 ซีซี พร้อมระบบวาล์วแปรผัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของรถในตระกูล MT นี้ ที่หยิบยกเอาระบบวาล์วแปรผันมาใช้งาน

 

 

Yamaha MT-15 (2019)

 

 

และพระเอกของเรา Yamaha MT-10

Yamaha MT-10 พระเอกของเราในบทความนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นรุ่นพี่ใหญ่สุดในตระกูล MT โดยเจ้ารถในตระกูล MT หรือ Master of Torque ปัจจุบันใช้ดีไซน์แบบ Agressive design ซึ่งจะเน้นเรื่องลายเส้นผสมกับความดุดันของตัวรถได้อย่างลงตัว ทำให้รถดูมีความลึกลับ และมีเสน่แตกต่างจากรถเน็กเก็ตทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งเจ้า Yamaha MT-10 นี้จะมีอะไรอัดแน่นมาบ้าง เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักกันครับ

 

 

เริ่มต้นจากด้านหน้าของตัวรถ ใช้ไฟหน้าแบบ LED 2 ดวง แบ่งเป็นไฟสูง 1 ข้าง ไฟต่ำ 1 ข้าง มาพร้อมไฟหรี่บริเวณใต้ชิวหน้า ส่วนไฟเลี้ยวเป็นแบบ LED บริเวณแฟริ่งข้างรถ และด้านข้างจะเป็นช่องสำหรับดักลมเข้าไประบายความร้อนเครื่องยนต์ และด้านหลังไฟหน้าจะเห็นว่ามีกันสบัดอยู่ด้วย

 

 

โช๊คอัพหน้าจาก KYB ขนาดแกน 43 มม. มาพร้อมตำแหน่งปรับแต่งโช๊คครบๆ ไม่ว่าจะเป็น Preload, Rebound, Damping

 

 

ระบบเบรค เป็นดิสเบรคคู่ขนาด 320 มม. มาพร้อมกับระบบ ABS ส่วนปั้มเบรคล่างเป็นแบบดราดาว เอกสิทธิเฉพาะ Yamaha แบบ 4 พอตทั้ง 2 ดิสเบรค ส่วนปั้มบนและกระทุ้งหลังเป็นของ Brembo OEM

 

 

 

ถัดขึ้นมาในส่วนของเรือนไมล์ เป็นเรือนไมล์แบบดิจิตอล ซึ่งใช้การวางรูปแบบเหมือนกับตัว All new YZF-R1 ทว่าในตัว R1 นั้นจะเป็นจอสี TFT ส่วนใน MT-10 จะเป็นจอดิจิตอลธรรมดา ซึ่งบอกข้อมูลการขับขี่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรวัดความเร็ว, รอบเครื่องยนต์, ตำแหน่งเกียร์, นาฬิกา, ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง, ตัวอุณหภูมิภายนอก, โหมดการขับขี่ รวมไปถึงระดับของระบบป้องกันล้อหมุนไม่สัมพันธ์กัน หรือ Traction control, ไฟสัญลักษณ์ระบบล็อกความเร็ว เป็นต้น โดยด้านซ้ายล่างของเรือนไมล์จะเป็นช่องสำหรับชาร์จแบตเตอร์รี่

 

 

มาดูในส่วนของประกับแฮนด์ด้านซ้าย เรียกได้ว่าอัดปุ่มเข้าไปอย่างแน่นๆ เลยทีเดียว ซึ่งปุ่มอะไรไว้ทำอะไรบ้าง เรามีบอกให้ในภาพเรียบร้อย

 

 

ในส่วนของประกับแฮนด์ด้านขวาประกอบด้วยปุ่ม off/run พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ในชิ้นเดียว ถัดมาเป็นปุ่มปรับโหมดของเครื่องยนต์ และปุ่มไฟฉุกเฉิน

 

 

ถังน้ำมันดีไซน์เข้ากับผู้ขับขี่ ขนาดความจุ 17 ลิตร โดยมีการบีบในส่วนของถังบริเวณที่หัวเข่าของเราหนีบกับตัวรถ ทำให้เราสามารถคุมรถได้ง่ายขึ้น

 

 

เบาะนั่งแบบ 2 ตอน ความสูงเพียง 825 มม. เท่านั้น ซึ่งตัวเบาะนั่งนั้นออกแบบมาเข้าทรงกับถังน้ำมันและพักเท้า ทำให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้ง่าย ทว่าเบาะนั่งหลังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ประกอบกับตำแหน่งพักเท้าผู้ซ้อนค่อนข้างสูง ทำให้ที่นั่งค่อนข้างสร้างความลำบากให้กับผู้ซ้อนท้ายมากกว่า ส่วนผู้ขับขี่บอกเลยว่านั่งสบายมาก

 

 

โช๊คหลัง เป็นโช๊คอัพสปริงเดี่ยว ปรับระดับได้ทุกอย่าง มาพร้อมไฟท้ายและไฟเลี้ยวแบบ LED ดีไซน์เดียวกับ MT-09

 

 

เครื่องยนต์ CP4

 

 

เครื่องยนต์ ถือเป็นจุดเด่นที่สุดของเจ้า Yamaha MT-10 ซึ่งเจ้ารถคันนี้ใช้เครื่องยนต์ Crossplane 4 สูบเรียง 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาด 998 ซีซี ซึ่งเจ้าเครื่องยนต์ CP4 หรือ Crossplane 4 คันนี้ เป็นเครื่องยนต์แบบเดียวกับรถตัวแข่ง Yamaha YZR-M1 ใน MotoGP กระทั่ง YZF-R1, R1M และ R1S ซึ่งเครื่อง CP4 ใน Yamaha MT-10 คันนี้ จะทำการตัดทอนกำลังแรงม้าลงให้เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตจริง

สำหรับข้อมูลเครื่องยนต์ รวมถึงข้อมูลตัวรถทางเทคนิค อ่านได้จากตารางด้านล่างนี้เลยครับ

 

เครื่องยนต์

ประเภท 4 สูบเรียง Crossplane 4 จังหวะ 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ
ปริมาตรกระบอกสูบ 998 ซีซี
พละกำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 11,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 111 นิวตันเมตร ที่ 9,000 รอบ/นาที
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 8 ลิตร / 100 กิโลเมตร

 

ตัวรถ

เฟรม อลูมิเนียม เดลต้าบ็อกซ์
โช๊คหน้า โช๊คอัพหัวกลับขนาดแกน 43 มม.
โช๊คหลัง โช๊คอัพสปริงเดี่ยว
เบรคหน้า ดิสเบรคคู่ ขนาด 320 มม. พร้อมปั้มเบรค 4 พอต
เบรคหลัง ดิสเบรคเดี่ยว ขนาด 220 มม.
ยางหน้า 120/70 R17
ยางหลัง 190/55 R17

 

มิติรถ

ขนาด ยาว x กว้าง x สูง (มม.) 2,095 x 800 x 1,100
ความสูงเบาะ 825 มม.
ระยะฐานล้อ 1,400 มม.
ความสูงจากพื้นถึงเครื่อง 130 มม.
น้ำหนักตัวพร้อมใช้งาน 210 กก.
น้ำมันเชื้อเพลิง 17 ลิตร

 

การขับขี่

การขับขี่เจ้า Yamaha MT-10 คันนี้ ผมมีโอกาสได้ทดสอบรถทั้งการขับขี่ในเมืองที่มีสภาพการจราจรติดขัดอย่างกรุงเทพมหานคร ผ่านเส้นทางถนนเกษตร-นวมินทร์ที่ค่อนข้างมีการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน ตลอดจนได้นำเจ้า MT-10 ไปออกทริปลุยไปถึงนครนายกกันแบบเช้าไป - เย็นกลับกันด้วยระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อทดสอบสมรรถนะที่แท้จริงของตัวรถคันนี้

 

 

การขับขี่ในเมือง

การขับขี่เจ้า Yamaha MT-10 ในเมืองนั้นถือว่าค่อนข้างคล่องตัว เนื่องด้วยตัวรถใช้เครื่องยนต์ Crossplane 4 ขนาด 1 ลิตร แบบเดียวกับ Yamaha YZF-R1 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเรนจ์ของพลังในแต่ละเกียร์ที่เยอะมาก เวลาเจอรถเยอะๆ สามารถขับขี่ได้ด้วยเกียร์ 1 หรือ 2 ได้เลย โดยไม่ต้องชิพเกียร์ขึ้นไปเยอะ เพื่อฝ่าอุปสรรคการจราจรกันแสนติดขัดได้อย่างสบายๆ

ทว่า หากเจอสภาพรถติดหยุดนิ่ง แล้วเราจำเป็นต้องลัดเลาะไปตามช่องระหว่างรถยนต์นั้นจะทำได้ค่อนข้างลำบากไปสักหน่อย เนื่องด้วยพื้นฐานการออกแบบตัวรถมาจาก YZF-R1 ทำให้วงเลี้ยวของรถคันนี้จะค่อนข้างกว้าง หักแฮนด์ได้ไม่มากเท่ารถเน็กเก็ตรุ่นอื่น ทำให้เวลาซอกแซกไปตามช่องระหว่างรถนั้นทำได้ค่อนข้างยากไปสักนิด

 

 

ด้านอัตราบริโภคน้ำมันของ MT-10 นั้น หากนำมาใช้ประจำวันนั้นก็มีอัตราบริโภคน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 15 - 17 กม/ลิตร แล้วแต่จังหวะการเปิดคันเร่งของผู้ขับขี่ล้วนๆ จัดว่าอยู่ในปริมาณปกติของรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ถึง 1,000 ซีซี

 

การขับขี่ออกทริป

บอกได้เลยว่า Yamaha MT-10 นั้น การนำเจ้ารถคันนี้ไปเดินทางนั้นบอกเลยว่าฟินส์สุดๆ เนื่องด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1 ลิตรของมันนี่แหละ ทำให้พละกำลังของมันที่สูงสุดถึง 160 แรงม้า สามารถถ่ายทอดมาให้ผู้ขับขี่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะแรงบิดที่สูงมากถึง 111 นิวตันเมตรนั้น บอกเลยว่ารถดึงเราจนหน้าตึงได้ทุกเกียร์จริงๆ โดยเกียร์ 1 ของเจ้า MT-10 นั้น เราลองลากเข้า Redline ที่ 11,500 รอบ / นาที สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 130 กม./ชม. เลยทีเดียว เรียกได้ว่าโครตตตตตแรง !

 

 

ทางด้านระบบอำนวยความสะดวกในการขับขี่อย่างระบบล็อกความเร็ว (Cruise Control) เป็นอะไรที่ใช้แล้วแฮปปี้สุดๆ เพราะเรานั้นไม่จำเป็นต้องกุมคันเร่งตลอดการเดินทางเลย เพียงกดปุ่มเปิดการทำงานของระบบ แล้วกด Set ตัวรถก็จะล็อกความเร็วในขณะนั้นทันที โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้เกียร์ 4 ขึ้นไป

นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ยังสามารถเพิ่ม / ลดความเร็วได้เพียงกดปุ่มเพิ่ม / ลด บริเวณประกับแฮนด์ด้านซ้ายได้ทันที แล้วในกรณีต้องการยกเลิกการใช้งานระบบ เพียงกดเบรคหน้าหรือเบรคหลัง อันใดก็ได้ ตัวรถก็จะหยุดการทำงานของระบบล็อกความเร็วทันที เรียกได้ว่าค่อนข้างสะดวกสุดๆ

 

Quick shifter ก็จัดมาให้ด้วยใน Yamaha MT-10 โดยผู้ขับขี่สามารถเพิ่มเกียร์ได้เลยโดยไม่ต้องกำคลัช เมื่อเรากำลังเดินคันเร่งอยู่ เพื่อให้รถมีความสมูธในขณะเปลี่ยนเกียร์ บอกเลยว่าใครที่ชอบขับรถแบบลากรอบขึ้นไปเปลี่ยนเกียร์ช่วงกลางนะ มันส์อย่าบอกใครครับ เพราะตัวควิกชิพเตอร์ใน Yamaha MT-10 นั้นให้สัมผัสเดียวกับตัว YZF-R1 เลยทีเดียว ทำให้การเปลี่ยนเกียร์นั้นนุ่มนวลอย่างมากมาย 

 

 

ตำแหน่งท่านั่งของตัวรถ ถูกออกแบบให้กระชับเข้ากับผู้ขับขี่ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นสัมผัสการกริปรถที่แน่นมากประดุจขับรถสปอร์ตไบค์เลยทีเดียว นอกจากขับขี่เดินทางไกลจะไม่มีอาการปวดเมื่อยเหมือนรถสปอร์ตแล้ว ยังทำให้เราสามารถพลิกรถไปมาได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับตัวรถให้หน้ากว้างยางขนาดใหญ่มาก ทำให้สามารถเทโค้งเยอะๆ ได้อย่างสนิทใจ ไม่ต้องกลัวหมดขอบไวเลยทีเดียว

 

ช่วงล่างของเจ้า MT-10 คันนี้ จัดเต็มด้วยการที่ผู้ขับขี่สามารถปรับแต่งได้อย่างละเอียดยิบ แต่ผมขอทดสอบด้วยการใช้ค่ามาตรฐานโรงงาน ก็พบว่าเจ้าช่วงล่างเดิมๆ นี้ เพียงพอต่อการใช้งานเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่เดินทางไกลบนทางดำ, การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง หรือการเจอพื้นถนนที่ไม่เรียบเนียน ก็สามารถผ่านไปได้อย่างสบายๆ แม้ว่าตัวรถจะถูกเซ็ตอัพมาแบบสปอร์ตสักหน่อย ก็ยังสามารถขับขี่ได้อย่างสนุก

 

 

ข้อสังเกตุ

- เบาะนั่งของตัวรถเดิมๆ นั้นจะค่อนข้างแข็งไปสักหน่อย หากนำไปใช้งานขับขี่เดินทางไกล ควรนำไปปรับแต่งให้สบายกว่านี้ แต่ถ้าหากใช้งานขับขี่ในเมือง หรือไม่ได้ขี่รถเยอะมากเป็นชีวิตจิตใจ เดิมๆ ก็เพียงพอต่อการใช้งาน

- เนื่องด้วยตัวรถมีพื้นฐานการสร้างขึ้นมาจากรุ่น YZF-R1 ทำให้แฮนด์นั้นหักเลี้ยวได้ไม่เยอะมากนัก การนำรถไปฝ่าช่องจราจรที่ติดขัดอาจต้องใช้วงเลี้ยวที่กว้างขึ้น

 

สรุป

Yamaha MT-10 เป็นรถเน็กเก็ตขนาดใหญ่ที่มีพละกำลังมหาศาลมากๆ เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์กับรถบิ๊กไบค์เป็นอย่างดี จะสามารถรีดเค้นประสิทธิภาพของรถออกมาได้อย่างเต็มๆ โดยตัวรถนั้นจะคลอบคลุมแทบทุกการใช้งานเลยล้ะ ส่วนผู้ขับขี่มือใหม่ที่กำลังมองหารถบิ๊กไบค์คันแรก ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวรถนั้นมีแรงบิดที่สูงเอามากๆ จนอาจเกิดอันตรายได้ หากไม่มีทักษะการควบคุมรถที่มากพอ เรียกได้ว่ามันเกิดมาเพื่อเป็นรถของมือโปรที่แท้จริง

โดยเจ้า Yamaha MT-10 คันนี้ มีราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 619,000 บาท นอกจากนี้ยังมี Gift voucher อีกหลายหมื่นเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามสามารถชมตัวจริงได้ที่ศูนย์ Yamaha Rider's Club ทั่วประเทศครับ

ขอขอบคุณ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ที่เอื้อเฟื้อรถทดสอบให้แก่เรา
ขอขอบคุณ กางเกงเซฟตี้จาก Braap Jean

ในครั้งหน้าเราจะมีรีวิวรถรุ่นใด อย่าลืมติดตามชมกันครับ

 

บททดสอบ และขับขี่โดย กฤตนู วิเศษไชยศรี
ถ่ายภาพ โดย Ananpong C., Kittipong A.
ผู้ช่วยช่างภาพ Nattapong T.

 

เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ