รีวิว Chevrolet Trailblazer 2.8 LT 4WD ขับทดสอบระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร Share this
รีวิวรถยนต์
โหมดการอ่าน

รีวิว Chevrolet Trailblazer 2.8 LT 4WD ขับทดสอบระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 04 September 2555

ในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ หลายๆคน คงได้ดู TVC โฆษณา ที่มีสโลแกนว่า Chevrolet Trailblazer ใจถึง…ก็ไปถึง โดยคุณโชค บูลกุล กันไปแล้ว สำหรับ All-New Chevrolet Trailblazer คันนี้ ได้ถือว่าเป็น Generation ที่ 2 แล้ว หลายคนคงไม่ทราบ เพราะ Generation แรกนั้น ทาง GM ได้เน้นทำตลาดในสหรัฐ ไม่มีในประเทศไทยเรา มาในโฉมใหม่นี้ทาง GM ก็ได้นำเจ้า Trailblazer บุกมาทำตลาดในบ้านเรา เพื่อเอาอกเอาใจคอขาลุยทั้งหลาย เล่นเอาหลายคนใจจดใจจ่อกับการมาของรถยนต์ PPV ที่จัดเต็มด้วยระบบเทคโนโลยีความปลอดภัย ที่มีมาให้อย่างเพียบพร้อม รวมถึงเครื่องยนต์ ระบบเบรก และช่วงล่างที่ดีไม่แพ้รถในระดับเดียวกันคันนี้ อีกทั้งยังมีความหรู ภายในที่กว้างขวาง และความอเนกประสงค์แบบเต็มเปี่ยม แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้มันมีดีพอที่จะมากระตุ้นกระแส และทำให้ตลาดรถยนต์ในกลุ่ม PPV รวมถึงรถยนต์ SUV ในบ้านเราดุเดือดเผ็ดมันขึ้นเป็นแน่

รูปโฉมภายนอก Chevrolet Trailblazer นี้ถือว่าเป็นรถ PPV (Pickup Passenger Vehicle) หรือที่เรียกว่ารถยนต์ดัดแปลงโดยอิงพื้นฐานโครงสร้างมาจากรถกระบะ ดังนั้นไม่แปลกใจเลย ที่เจ้า Trailblazer นี้จะมีรูปร่างหน้าตา ละเมียดละม้ายคล้ายคลึงกระบะพันธุ์แกร่ง Colorado ยกสูง แต่แฝงด้วย Concept Body in Wheel out จากทีมวิศวกรของ GM โดยมีโป่งล้อออกมาเหมาะกับการลุยทางสมบุกสมบัน และด้วยรุ่น LT คันนี้ไม่ใช่ตัว Top จึงมีจุดที่แตกต่างไปหลายจุดจาก LTZ ได้แก่ ไฟหน้าเป็นแบบ Halogen ธรรมดา ขณะที่รุ่น LTZ เป็นไฟ Projector ในส่วนไฟท้ายเป็นแบบหลอดธรรมดา สำหรับรุ่น LTZ จะเป็น LED ม่านกระจกมองข้างและมือเปิดประตูจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ แต่ LTZ จะเป็นโครเมียม กรอบโครเมียมไฟตัดหมอกจะมีให้ในรุ่น LTZ และพิเศษสำหรับ LTZ1 ล้อจะเป็นขอบ 18” นอกนั้นจะเป็น 16” ทั้งหมด และจุดแตกต่างภายนอกอีกหนึ่งจุด คือ จะไม่มีราวหลังคาให้ในรุ่น 2.5 LT และ 2.8 LT 2WD

DSC_0223_resize

รูปโฉมภายใน ภายในรถจะเป็นโทนสีเบจ Shale Beige ยกเว้นรุ่น 2.5 จะเป็นสีเทา Dark Ash Grey สำหรับในคันนี้ที่เป็นรุ่น LT จะมีความแตกต่างหลักๆจาก LTZ ได้แก่ วัสดุภายในเป็นผ้า Struct ถ้าเป็น LTZ จะเป็นวัสดุสังเคราะห์, เบาะนั่งด้านคนขับเป็นแบบมือปรับไม่ใช่ปรับไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศก็เป็นแบบ Manual ไม่ใช่อัตโนมัติ, กระจกมองข้างพับมืออีกเช่นกัน ไม่ใช่พับไฟฟ้า, ลำโพงเครื่องเสียงมีเพียง 6 ตัว LTZ ให้ถึง 8ตัวแบบพรีเมี่ยม, ม่านปิดสัมภาระท้ายก็ไม่มีมาให้, Cruise Control ก็ไม่มีมาให้อีก แต่ความสะดวกสบายนั้นมีมาให้ค่อนข้างครบทั้งช่องจ่ายไฟ ที่มีให้มากถึง 4จุด อุปกรณ์เชื่อมต่อก็มีครบทั้ง Bluetooth, Aux, USB เครื่องเสียงเป็นแบบ CD/Mp3 1แผ่น และพิเศษในรุ่น LTZ1 ระบบเครื่องเสียงจะเป็น Navigator หน้าจอ Touchscreen ขนาด 7”

เครื่องยนต์ Duramax รหัส (XLD28) ดีเซลคอมมอนเรลเทอร์โบ แบบหัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่น พร้อมระบบอินเตอร์คูลเลอร์ 4สูบ 16 วาล์ว ขนาดความจุ 2776 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า@ 3800 rpm กับแรงบิดที่มากที่สุดในกลุ่มถึง 470Nm@2000rpm Torque ระดับนี้เทียบเท่ารถสปอร์ตตัวแรงเลย สำหรับเครื่องยนต์ตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ Duramax รุ่นใหม่ล่าสุดจากทาง GM ซึ่งผลิตจากโรงงานในจังหวัดระยอง ที่เพิ่งทำการเปิดไปเมื่อปีก่อน โดยเครื่องยนต์ทั้ง 2.5 และ 2.8 ลิตรนี้ ใช้ฝาสูบแบบอลูมิเนียม ซึ่งพัฒนาให้ได้แรงบิดสูงสุดในรถระดับเดียวกัน อีกทั้งให้ความทนทานและประหยัดน้ำมัน รวมถึงได้ผ่านการทดสอบกับทุกสภาวะการขับขี่มาแล้วด้วย

DSC_0186_resize

ระบบส่งกำลังและการควบคุม ระบบส่งกำลังเป็นแบบ เกียร์อัตโนมัติ 6 Speed พร้อมระบบ DSC (Driver Shift Control) เพื่อให้คุณเปลี่ยนเกียร์ได้เองตามที่ต้องการ และระบบขับเคลื่อนมีให้เลือก 3แบบ โดยมีปุ่มปรับเป็นทรงกลมใช้งานง่ายวางอยู่ตรงตำแหน่ง ถัดลงมาจากคันเกียร์คือ 2WD, 4High, 4Low หลายคนที่ไม่ได้เล่นรถ 4WD อาจไม่ทราบว่ามันใช้งานกันอย่างไร จะขออธิบายตั้งแต่ 2WD ก่อนละกัน โหมดนี้ไว้สำหรับขับใช้งานบนถนนทั่วๆไป ที่ไม่ได้ต้องการกำลังรถในการตะเกียกตะกายอะไรเน้นขับทางยาวบนสภาพถนนปกติ มาในส่วน 4Hi จะใช้สำหรับวิ่งระยะทางยาว ที่มีพื้นผิวลื่นอย่างเช่นหิมะ หรือฝนตกหนัก ซึ่งต้องการ Grip ที่สูงขึ้นกว่าการขับแบบ 2WD และสุดท้ายกับ 4Lo อันนี้ไว้สำหรับใช้ในการตะลุยทางสมบุกสมบันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นหลุ่มลึก มีโคลน ก้อนหิน กรวดทราย หรือแม้กระทั่งการลากจูงสิ่งของต่างๆ ที่ต้องดึงกำลังสูงแต่ใช้ความเร็วต่ำ

ด้านการควบคุม พวงมาลัยเป็นแบบเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า (EPS) เหมือนดั่งรถในยุคสมัยนี้เป็นกันแทบทุกคัน เพียงแต่ผ่อนแรงน้อยเกินไป

ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4ล้อ จานหน้าขนาด 300มม. จานหลัง 318มม. ในขณะที่รถ PPV ค่ายเพื่อนๆ ด้านหลังจะเป็นดรัม หรือแม้แต่เทียบกับ SUV ค่ายเชฟวี่ด้วยกัน อย่าง Captiva ที่เป็นดิสก์เบรก 4ล้อ แต่ครีบระบายความร้อนมีเฉพาะคู่หน้า ในจุดนี้ตามสเป็กบนกระดาษ เจ้า Trailblazer จึงได้เปรียบไปเต็มๆ

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2ชั้น พร้อมคอยล์สปริงและโช้คอัพแก๊ส (Double Wishbone) ด้านหลังเป็นแบบ 5ลิงค์ คอยล์สปริง ซึ่งเทียบกับรถต่างค่ายที่เป็นแบบหลัง ลิงค์ คอยล์สปริง เช่นเดียวกัน ถือว่ามีมากที่สุด พูดกันถึงสไตล์ของรถ PPV นั้น จะมีจุดที่แตกต่างจาก SUV นั่นคือ PPV มีพื้นเพมาจาก Pickup ดังนั้นช่วงล่างจึงมาในสไตล์ของรถ Pickup เช่นกัน โดยจะเน้นลุยเสียมากกว่า แต่ SUV (Sport Utility Vehicle) เป็นรถสปอร์ตอเนกประสงค์ ดังนั้นช่วงล่างจะออกไปทางรถยนต์ปกติทั่วไปมากกว่า คือ เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก ด้านหน้ามักจะเป็นแบบ McPherson Strut ส่วนด้านหลังก็เป็นตามรูปแบบเทคโนโลยีของแต่ละค่ายเอง

DSC_0227_resize

ระบบความปลอดภัย มีมาอย่างเพียบพร้อม กุญแจ Immobilizer ถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบช่วยการเบรกทั้ง ABS, EBD, ระบบช่วยเบรกกระทันหัน PBA (Panic Brake Assist), ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรก HBA (Hydraulic Brake Assist) จะมีมาในทุกรุ่น และพิเศษเฉพาะรุ่น LTZ จะมีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control), ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน HSA (Hill Start Assist), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System), ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program), ระบบช่วยเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control)

Trailblazer ใจถึง…เขาใหญ่…ก็ไปถึง!

DSC_0232_resize

ในการขับรถทดสอบครั้งนี้ ขอขอบคุณ Chevrolet Sales (ประเทศไทย) เป็นอย่างมากที่ได้เอื้อเฟื้อรถมาให้ทดสอบในครั้งนี้ โดยคันที่ได้มานี้เป็น Chevrolet Trailblazer 2.8 LT 4WD ซึ่งถือเป็นตัวรอง Top ของเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แบบ Part Time สีบรอนซ์เงิน (Switchblade Siver) กับเส้นทางในการวิ่งครั้งนี้เป็นระยะทางกว่า 500กม. โดยเส้นทางที่วิ่งนั้น มีการวิ่งทั้งในตัวเมืองกรุงเทพฯที่มีสภาพการจราจรปานกลางในช่วงแรก ประมาณ 80 กม. แล้วจึงเป็นการวิ่งที่สภาพการจราจรค่อนข้างโล่งจากกรุงเทพฯ ออกไปยังจังหวัดนครนายก โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 80-100กม. และมีบางช่วงที่เป็นทางขึ้นเขาไต่ขึ้นทางชันจะปรับใช้ระบบขับเคลื่อนเป็น 4WD อย่างขาขึ้นเขื่อนขุนด่านปราการชล และขาขึ้นเขาใหญ่ มีเหยียบเร่งแซงบ้างบางจังหวะ และเหยียบทดสอบอัตราเร่งแบบกระแทกคันเร่งอีก 3 ครั้ง

ในส่วนการคำนวณอัตราสิ้นเปลืองนั้น นับตั้งแต่ออกจากลานจอดรถอาคารรสา วิ่งตลอดจนถึงปั๊มที่เติมน้ำมันเพื่อคำนวณนั้น เป็นระยะทางทั้งสิ้น 525.5กม. เติมน้ำมันเต็มถังแค่หัวจ่ายตัด ใช้น้ำมันไป 51.533 ลิตร คิดอัตราสิ้นเปลืองได้ 10.2 กม./ลิตร

หมายเหตุ ในการทดสอบครั้งนี้ ช่วงที่วิ่งในตัวเมืองนั้น น้ำหนักบรรทุกไม่สม่ำเสมอ แต่ช่วงที่วิ่งไป-กลับนครนายก มีผู้ขับน้ำหนัก 57กก. และผู้โดยสารอีกคนน้ำหนัก 62กก. พร้อมกระเป๋าสัมภาระอีกราว 5กก.

DSC_0175_resize

จากตัวเลขที่ได้นั้น ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่คิดไว้ในใจ คือ ไม่เกิน 11กม./ลิตร ดูแล้วตัวเลขนี้ อาจจะดูกซดมากไปสักหน่อย กับการวิ่งที่ความเร็วเฉลี่ยไม่สูงมาก อย่าง 80-100กม./ชม. แต่อย่าลืมว่า เครื่องยนต์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถึง 2.8 ลิตร รวมถึงการขับขี่ในช่วงที่รถติดในตัวเมืองอีกเล็กน้อย มิหนำซ้ำยังมีทางวิ่งขึ้นเขาที่ชัน ซึ่งต้องใช้เกียร์ต่ำลากรอบเครื่องขึ้นสูงสักหน่อย และก็การเหยียบเร่งแซงกับการทดสอบอัตราเร่งอีก จึงทำให้ตัวเลขนั้น ออกมาไม่ดีสักเท่าไรนัก

หลังจากที่ได้ทำการเซ็นต์เอกสารรับรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พนักงานที่ส่งมอบรถได้แจ้งว่า รถคันที่ได้จัดเตรียมให้นี้เป็นรุ่น 2.8 ลิตร LT 4WD เป็นตัวรอง Top ทำเอาแอบเสียดายเล็กๆ ที่ไม่ได้ตัว Top มาทดสอบสมรรถนะของมันอย่างเต็มที่ แต่เอาเถอะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เริ่มจากกุญแจที่ได้รับมาเป็นแบบ Flipkey มี Immobilizer ในตัว เมื่อเข้าไปในรถบิดกุญแจสตาร์ท ใช่เลย Feeling นี้เหมือนรถกระบะเป๊ะเลย ในจังหวะที่สตาร์ทเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องจะค่อนข้างสั่นอยู่หน่อย เป็นสไตล์ของรถกระบะโดยแท้ ได้ Feel เจ้า Colorado มาเลย (ก็แน่ล่ะเครื่องยนต์ตัวเดียวกันนิ) เมื่อสตาร์ทแล้วจึงเปิดเครื่องปรับอากาศที่ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติแต่เป็นอัตโนมือแทน เพราะนี่ไม่ใช่รุ่น Top เมื่อเสร็จแล้ว ก็มาปรับเบาะนั่งต่อ อีกเช่นเคยที่ต้องใช้ระบบมือแทน เพราะมันไม่ใช่เบาะปรับไฟฟ้าอีกเช่นกัน และต่อไปหูกระจกพับอยู่เพราะรถนั้นจอดอยู่ในซองแคบ มองไปลองกดปุ่มปรับกระจกดู เอ่อ…มันกดไม่ได้ จึงทราบแล้วว่าเป็นระบบมืออีกเช่นเคย สำหรับปุ่มปรับกระจกมองข้างกับสวิทช์ไฟฉุกเฉินนั้น รู้สึกว่ามันค่อนข้างไกลห่างมือไปนิดนะ หลังจากปรับตำแหน่งทุกอย่างให้เหมาะสมเข้าที่แล้ว จึงเริ่มโยกคันเกียร์ที่ตำแหน่ง P เพื่อจะลงมาที่ D เมื่อเลื่อนลงมาถึง R รถจะล๊อคประตูเองโดยอัตโนมัติ และเวลาจอดก็เช่นกันเมื่อโยกคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P ประตูก็จะปลดล๊อคเองโดยอัตโนมัติเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าดีเหมือนกัน สำหรับคนที่ชอบลืมล๊อคประตูขณะขับรถ ทุกอย่างพร้อม! เคลื่อนที่ออกได้ ภายในอาคารจอดก็ช่างเตี้ยเสียจริง เวลาขับผ่านไฟบนเพดาน รู้สึกเสียวจนแทบจะก้มมุดหัวหลบแทน เพราะความสูงของเจ้า Trailblazer นี้ สูงถึง 1.83เมตร สูงราวกับนักกีฬาตัวใหญ่ๆ เลย หลังจากออกจากลานจอดได้ ค่อยหายอกหายใจคล่องคอขึ้นหน่อย เมื่อได้ออกมาขับขี่บนพื้นถนนถึงจะสังเกตุเห็นว่า ตรงเสา A มีที่จับมือมาให้ด้านคนขับด้วยตอนแรกก็คิดว่ามันจะมีไว้ทำไม สักพักจึงนึกได้ว่าเอาไว้ให้คนตัวเล็กๆ โหนเวลาก้าวขึ้นรถนั่นเอง ในด้านมุมมองนั้น ข้างหน้ารถรู้สึกว่ามองได้ค่อนข้างชัดเจนแม้กระทั่งปรับเบาะลงต่ำสุด ก็ยังมองเห็นวิสัยทัศน์ข้างหน้าได้ไกล เพราะตัวรถนั้นสูงกว่าชาวบ้านชาวช่องเขา สำหรับด้านหลัง รู้สึกว่าเบาะตอนกลางกับตอนหลังนั้นค่อนข้างสูงอยู่หน่อยตรงบริเวณที่รองศรีษะ ถ้าปรับเบาะไม่ได้มุมอาจมีบดบังรัศมีบ้าง แต่ที่รู้สึกเป็นปัญหาเลย คือบริเวณเสา A ด้านขวาที่ค่อนข้างหนา ในขณะที่กำลังขับขึ้นเขาและพยายามมองรถที่จะสวนมาทางด้านขวา มันบังแทบจะเต็มๆจอเลย ต้องค่อยๆ ไปและชะโงกมองเล็กน้อย ถึงจะปลอดภัย เบาะตอน 2 และ 3 สามารถพับได้ เพื่อเพิ่มความอเนกประสงค์ มันใหญ่เพียงพอที่จะนำจักรยานขึ้นไปได้แบบสบายๆ ช่องเสียบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า มีให้มากถึง 4 จุด ข้างหน้า 2 เบาะนั่งตอน 2 อีก 1จุด และบริเวณสัมภาระด้านท้ายอีก 1จุด ภายในมีระบบเชื่อมต่อให้อย่างครบครัน ทั้ง Bluetooth, Aux, USB ช่องเก็บของมีทั้งหมด 3 ที่ ได้แก่ลิ้นชักฝั่งคนขับ, ช่องบนแผงแดชบอร์ดด้านบนสุด, แถมด้วยช่องวางของที่หลบอยู่ใต้พวงมาลัย

DSC_0168_resize

ในส่วนสมรรถนะเครื่องยนต์ด้านการขับขี่ กับเครื่องยนต์ดีเซล Duramax ความจุใหญ่ ขนาด 2.8 ลิตร คันนี้ที่มีแรงม้า 180ตัว กับแรงบิดระดับมหากาฬ 470Nm กับการเดินทางในครั้งนี้ จริงๆ แล้วแทบจะไม่ได้ใช้พละกำลังของมันอย่างเต็มที่สักเท่าไร เพราะเน้นขับแบบเรื่อยๆ มากกว่า ยิ่งในตัวเมืองที่รถติดคับคั่งแทบจะไม่มีจังหวะได้เหยียบเกิน 2500rpm เลย ความรู้สึกที่ได้จากเครื่องยนต์ Duramax ตัวนี้ ในช่วงออกตัวต้องบอกว่าอืดกันเลยทีเดียว รวมถึงไม่ได้รู้สึกถึงความดุดันของมันเลยในช่วงรอบที่ต่ำกว่า 2500rpm เมื่อมาแถว 2พันปลายๆ เริ่มรู้สึกถึงแรงดึงที่มากขึ้น พอถึงรอบ 3000rpm ไปนั่นล่ะ ที่แรงบิดจำนวนมากขอเจ้ายักษ์อสูรกายนี้ได้ถ่ายเทลงสู่ล้อไปยังพื้นผิวถนนแล้ว แต่ก็น่าจะเป็นเหตุผลเดิมๆ อีก คือ นิสัยของเครื่องยนต์เทอร์โบ ที่พละกำลังจะมาให้เห็นในรอบสูงหน่อย กับน้ำหนักตัวเจ้า Trailblazer ก็ไม่ใช่น้อยๆนี้ ไม่แปลกที่จะอืดกันเป็นธรรมดา เอาล่ะถึงเวลาลองดูอัตราเร่งกันหน่อยแล้ว ลองจับ 80-120กม./ชม. 2ครั้ง แบบ 2WD กับ 4WD ได้ 9.08 และ 9.05 ตามลำดับ ถือว่าไม่ได้ต่างอย่างมีนัยสำคัญนัก และการทดลองครั้งนี้มีผู้โดยสารกับสัมภาระ รวมอยู่ด้วยตามที่ได้บอกไปแข้างต้น โดยส่วนตัวคิดว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะการตอบสนองของคันเร่งนั้นช้ามาก กว่าที่จะส่งคำสั่งไปยังเกียร์อีก รวมถึงกว่ารอบเครื่องนั้นจะกวาดขึ้นไปก็กินเวลาไปพอสมควรแล้ว

สำหรับด้านความสัมพันธ์รอบเครื่องที่ได้นั้น ได้ทดลองความเร็วที่ 3 ค่า ได้ดังนี้ 80กม./ชม.=1750rpm (เกียร์ 5) 100กม./ชม.=1650rpm 120กม./ชม.=2000rpm จากที่ได้ทดลองทำรอบให้ได้ต่ำสุดเพื่อสัมพันธ์กับความเร็วนั้นพบว่า เกียร์จะไม่ยอมเปลี่ยนขึ้นเกียร์ 6 ถ้าความเร็วยังไม่เกินกว่า 95 กม./ชม. ขึ้นไป ส่งผลให้การขับขี่แบบประหยัดน้ำมันนั้นทำได้ค่อนข้างยากขึ้น เพราะการที่เราขับเรื่อยๆ โดยเหยียบคันอย่างแผ่วเบา ความเร็วจะไต่ขึ้นอย่างช้าๆ มาป้วนเปี้ยนอยู่ราวๆ 70-80กม./ชม. ซึ่งหากจะทำความเร็วให้ได้เกินนี้จะต้องเพิ่มน้ำหนักเท้าเข้าไปอีก เพื่อจะเค้นตัวเลขมันขึ้นมาให้ได้ความเร็วเกินกว่า 95กม./ชม. แล้วจึงค่อยถอนคันเร่งออกได้ รอบเครื่องจึงค่อยดร็อปลง ตัดขึ้นเป็นเกียร์ 6 ได้ในที่สุด ถ้าอยากจะขับให้ได้รอบต่ำที่สุดของเกียร์ 6 จะต้องทำให้ความเร็วขึ้นไปตามที่กำหนดพอที่เกียร์มันจะยอมตัดขึ้นให้ เสร็จแล้วจึงค่อยๆ ปล่อยคันเร่งให้ความเร็วลดลงมาแถวๆ 85กม./ชม. +- นิดหน่อย แต่อย่าให้ความเร็วต่ำเกินไป เพราะระบบจะปรับลงมาเกียร์ 5 ทันที ซึ่งการจะทำอย่างที่บอกนี้ได้นั้น ก็ทำยากพอสมควรต้องอาศัยเลี้ยงและปล่อยคันเร่ง เนียนๆ

DSC_0150_resize

ในส่วนระบบส่งกำลังนั้น ตัวนี้เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed พร้อมระบบ DSC ให้คุณเอาไว้เล่น +- เกียร์เอาได้ตามต้องการ การเปลี่ยนเกียร์นั้น ถ้าจะหวังให้นุ่มนวลตามแบบรถยนต์ทั่วๆไป เห็นคงจะไม่ได้ เพราะจังหวะเปลี่ยนเกียร์นั้นมีกระตุกนิดๆ ความรู้สึกเล็กน้อยพอที่จะจับได้ว่า Shift เกียร์ไปแล้ว และระบบขับเคลื่อนที่มีให้มา 3 รูปแบบให้เลือกปรับเปลี่ยนได้นั้น ทั้ง 2WD, 4High, 4Low โดยปกติแล้วมักจะขับแต่ 2WD ได้มาลอง 4Hi บ้างตอนที่ฝนตก เพื่อการยึดเกาะที่ดีขึ้นหน่อย และตอน 4Lo มาเล่นเอาตอนขาขึ้นเขาใหญ่ ร่วมกับการ +- ควบคุมเกียร์เอาเอง

ด้าน Handling พวงมาลัย สำหรับพวงมาลัย 3 ก้าน หุ้มหนังวงนี้ มีขนาดค่อนข้างหนาใหญ่ เทียบกับมือผมที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จับแล้วรู้สึกไม่ค่อยกระชับนัก และพวงมาลัยนี้เป็นแบบเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า (EPS) ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้ช่วยผ่อนแรงกันเลย น้ำหนักมันมากจริงๆ เวลาจะจอดรถทีต้องสาวมือกันพันลวัน และขณะที่ขับในสภาพการจราจรในตัวเมือง เมื่อใจคิดอยากจะไปอีกเลนแล้ว แต่พวงมาลัยตอบสนองค่อนข้างช้าไปอีก ไม่ได้สมดั่งใจคิด ซึ่งตรงจุดนี้ ไม่ค่อยน่าประทับใจนัก ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงมือเล็กๆด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมาะเข้าไปใหญ่ รวมถึงการปรับปุ่ม Volume ที่ใช้นิ้วดันขึ้น - ลงนั้นดูจะทำได้ไม่ถนัดนัก

ระบบเบรกนั้น เป็นแบบดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ นั้น ดูๆจากสเป็กบนโบรชัวร์แล้ว น่าจะเหนือกว่าคู่แข่ง ที่หลังเป็นดรัมชัดเจน แต่ทว่า Feeling ที่ได้ยังไม่น่าประทับใจนัก เพราะแทบจะเรียกได้ว่า สไตล์การจับของแป้นเบรกนั้นยกแบบมาจากกระบะทั้งดุ้น สำหรับคนที่ขับรถยนต์ทั่วๆไป ที่มักไม่ค่อยได้ขับกระบะ คงต้องกะน้ำหนักเบรกให้ดี เผื่อเอาไว้สักหน่อยดีกว่าที่จะหวังพึ่งเจ้า PBA (Panic Brake Assist) โดยไม่จำเป็น ยิ่งคนที่มีนิสัยชอบจี้และเบรกเอากระชั้นชิดอย่างตัวผมด้วยแล้ว ในการขับทดสอบมีจังหวะซัดทางตรงยาวมาเจอแยกไฟแดงเบรกทีเลยเส้นเกือบเมตรตลอด คนที่ไม่เคยชินกับเบรกของกระบะ คงต้องกะน้ำหนักเท้ากันให้ดีหน่อย ถ้าคิดจะเอาเจ้ายักษ์ Trailblazer นี้ให้อยู่ใต้อุ้งเท้าให้ได้

ระบบกันสะเทือนช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบปีกนก 2ชั้น (Double Wishbone) พิมพ์นิยมของกระบะ ด้านหลังแบบ 5 ลิงค์ คอยล์สปริง ซึ่งยังคงให้ความกระด้างอยู่หน่อย แต่พอรับได้ เพราะยังคงให้ความนิ่มนวลที่มากกว่ากระบะ เนื่องจากเป็นรถอเนกประสงค์ที่เน้นบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าสัมภาระ สำหรับประสิทธิภาพการเกาะถนนนั้น ถือว่าทำได้ดีปานกลาง ไม่ถึงกับดีมาก ขับขี่ทางตรงที่ความเร็ว ประมาณ 100 กม./ชม. ถ้าพื้นไม่เรียบนัก อาการกระโดกกระเดกลอยๆ เริ่มมีบ้างตามประสารถยกสูง และเมื่อลองเทโค้งกว้างๆ ยาวๆ ตามทาง จะพบว่ารถยังให้ความหนักแน่น อาจจะออกอาการโยนตัวอยู่บ้างถ้าเข้าด้วยความเร็วสูงเกิน รวมถึงควบคุมพวงมาลัยได้ไม่ดี (เนื่องจากพวงมาลัย EPS อันนี้แทบจะไม่ผ่อนแรงเลย) ถ้าเป็นตัว LTZ ที่มีระบบ ESP เข้ามาช่วยยิ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีก สรุปแล้วประสิทธิภาพในการยึดเกาะทำได้ค่อนข้างดีสมกับที่ควรจะเป็น และให้ความสบายนุ่มนวลกว่ากระบะ

DSC_0167_resize

สำหรับระบบช่วยเหลือในด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่ทางเชฟโรเล็ท โฆษณาออก TVC กันไปนั้น เป็นที่น่าเสียดายที่ทางเราไม่สามารถลองทดสอบสมรรถนะส่วนนั้นได้ ซึ่งได้แก่ระบบ HDC, HSA, TCS, ESP, CBC แต่ในรุ่น LT คันนี้เป็นรุ่นเดียวที่มี Limited Slip มาให้ เพื่อจะลดอาการล้อหมุนฟรีทิ้ง แต่ทว่าตอนที่พยายามจะกลับรถและออกตัวอย่างรวดเร็วแบบกระแทกคันเร่งมากไปหน่อย ล้อยังคงหมุนฟรีทิ้งอยู่ดี (ขับแบบ 2WD)

สรุป All-New Chevrolet Trailblazer เป็นรถแบบ PPV อเนกประสงค์ หรือจะเป็นรถครอบครัวก็ยังได้ มันพร้อมเสมอที่จะลุยไปกับคุณได้ทุกที่ ถ้าใจคุณถึง Trailblazer ก็จะพาคุณไป จากภาพลักษณ์ของรถแล้ว ยังไงมันก็ดูเหมาะกับคุณผู้ชายที่ชอบลุยๆ หุ่นล่ำบึก คงไม่เหมาะกับคุณผู้หญิงตัวเล็กๆนัก เพราะแค่จะสาวพวงมาลัยก็คงหมดแรงกันแล้ว หรือ ถ้าคุณคิดจะซื้อรถคันนี้เพื่อมาวิ่งโก้หวังเท่ในตัวเมือง ก็ไม่เหมาะสมอีกเช่นกัน เพราะขาดความคล่องตัว, พวงมาลัยที่น้ำหนักมาก, รูปร่างใหญ่เทอะทะ จะจอดทีก็ลำบากเอาเรื่อง, เครื่องยนต์ที่ใหญ่ แต่อาจใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกำลังจำนวนมากจะมาราวๆ รอบ 3000rpm กับสภาพจราจรในเมืองกรุง คงแทบจะไม่ค่อยได้ใช้ เจ้ายักษ์ Trailblazer นี้ ยังถือว่าเป็นรถที่ได้เปรียบคู่แข่งในหลายๆ ด้าน ทั้งความสดซิง, แรงบิดระดับรถสปอร์ตตัวแรง, ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4ล้อ, ช่วงล่างหลัง 5 ลิงค์, ระบบความปลอดภัยทั้งหลายที่ให้คุณได้มากกว่า

ลืมพูดถึงสเป็ก Option ไป กับคันที่ทดสอบนี้เป็นรุ่น LT ระบบความปลอดภัยทั้งหลายจึงไม่มีมาให้ ทั้ง เซนเซอร์ 4 จุด, ระบบ HDC, HAS, TCS, ESP, CBC สู้บวกเงินอีก 90,000บาท ซื้อตัว LTZ ไปเลยจะดีกว่า กับรถราคาล้านกว่าแล้ว เอาระบบความปลอดภัยครบไปอุ่นใจกว่า ถ้าไม่เช่นนั้น…ทำไมคุณจะต้องเลือกซื้อเจ้า Trailblazer นี้ล่ะ?

All-New Chevrolet Trailblazer มี 7 สีให้เลือกสรรค์ คือสีขาว ซัมมิท ไวท์ (Summit White) สีดำ แบล็ก แซฟไฟร์ (Black Sapphire) สีแดง ซิซเซิล เรด (Sizzle Red) สีน้ำตาล เออเบิร์น บราวน์ ( Auburn Brown) สีน้ำเงิน บลูเมาเท่น (Blue Mountain) สีเทา รอยัล เกรย์ (Royal Gray) และสีเงิน สวิตช์เบลด ซิลเวอร์ (Switchblade Silver)

ราคาจำหน่าย Trailblazer กับรุ่นมีดังต่อไปนี้

• 2.5 LT 2WD M/T ราคา 1,059,000-

• 2.8 LT 2WD ราคา 1,249,000-

• 2.8 LT 4WD ราคา 1,299,000-

• 2.8 LTZ 4WD ราคา 1,389,000- มาพร้อมระบบควบคุมความปลอดภัย HDC, HAS, TCS, ESP, CBC

• 2.8 LTZ1 4WD ราคา 1,489,000- มาพร้อมระบบ NAVI พร้อมล้ออัลลอย 18”

ภณ เพียรทนงกิจ (พล autospinn) ผู้เขียน


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ