รีวิว ขับรถยนต์ไฟฟ้า กรุงเทพ - เชียงใหม่ 9 ชั่วโมง ด้วย BMW iX3 M Sport Share this
EV Trends
โหมดการอ่าน

รีวิว ขับรถยนต์ไฟฟ้า กรุงเทพ - เชียงใหม่ 9 ชั่วโมง ด้วย BMW iX3 M Sport

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 19 March 2565

ขับรถยนต์ไฟฟ้าจากกรุงเทพ ไป เชียงใหม่ ภายใน 9 ชั่วโมง ใช้เวลาไม่แพ้รถยนต์เครื่องสันดาปแบบดั่งเดิม ขับจริง ชาร์จจริง ไม่มีเมค พร้อมบอกจุดชาร์จทุกจุดว่าควรแวะตรงไหนบ้าง


ขับรถไฟฟ้า กรุงเทพ - เชียงใหม่

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าขับเดินทางไกลนั้น มีผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงตั้งธงในใจว่า "ช้าแน่ๆ" "ต้องเสียเวลาชาร์จแน่ๆ" "ไปไม่ได้แน่ๆ" ใช่ไหมครับ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านมาถึงจุดนี้ต้องเคยเจอคอมเม้นท์สไตล์นี้จาก "ชาวเน็ต" กันมาบ้างสัก 1 ประโยคล่ะ

วันนี้ Autospinn ของเรา จึงมาทำการทดสอบขับรถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไกลกัน ในเส้นทางกรุงเทพ - เชียงใหม่ แบบ "ขับจริงๆ ตามสไตล์ที่มนุษย์ทั่วไปใช้งานกัน"

กล่าวคือ ยังไงแล้วการขับรถเดินทางไกลย่อมมีการแวะพักเป็นเรื่องปกติ บางคนอาจจะพักทุก 2 ชั่วโมง บางคนอาจจะพักทุก 3 ชั่วโมง หรือจะใช้ระยะทางเป็นตัวกำหนด เช่น 200 โลพักที, 300 โล พักที เป็นต้น รวมไปถึงข้อจำกัดเรื่องของพิกัดความเร็วที่ถูกจำกัดไว้ด้วยในแต่ละเส้นทางที่มีความแตกต่างกัน

แถมการพักของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนพัก 5 นาที บางคน 20 นาที บางคนพักเป็นชั่วโมงก็มี

หากคุณขับเร็วเกินกว่าป้ายจราจรกำหนด สิ่งที่จะพบนั่นคือ "ใบสั่ง" ที่พร้อมจัดส่งถึงมือคุณ ณ บ้านของท่านเลย โหดหน่อยก็ขับเพลินๆ ไปอีกสักพัก เจอ "ด่านปรับสด" เสียเงินกันมาแล้วนักต่อนัก

 

 

ดังนั้น ในการทดสอบขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไกล จากกรุงเทพ - เชียงใหม่ นั้น เราจึงตั้งกติกาว่า

  1. ขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดตามพิกัดทาง โดยมีทั้งไม่เกิน 120 กม./ชม. และ 90 กม./ชม. แล้วแต่ช่วง
  2. ใช้ Adaptive Cruise Control ควบคุมการขับขี่
  3. แวะพักทุกๆ 2-3 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพร่างกาย (หิว / ต้องการเข้าห้องน้ำ / อยากพัก ฯลฯ)

ซึ่งก็เรียกได้ว่า "ใกล้เคียง" กับผู้ใช้งานรถยนต์ส่วนใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ เราก็มีการอ้างอิงเวลาการเดินทางด้วยแอปฯ Google Maps ด้วย โดยตั้งต้นจากจุดเริ่มต้น ไปถึงจุดสิ้นสุดว่า จากการคำนวณของโปรแกรมนั้น ต้องใช้เวลาในการเดินทางเท่าใด

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเดินทางอาจมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากจุดเริ่มต้น/จุดสิ้นสุด/สภาพการจราจร/สภาพอากาศ ย่อมมีความแตกต่างกัน บทความนี้ใช้เป็นเพียงแนวทางการอ้างอิงเท่านั้นว่า "รถยนต์ไฟฟ้า" สามารถเดินทางไกลได้จริง โดยไม่มีความแตกต่างกับการใช้งานรถยนต์ปกติ

 

 

BMW iX3 M Sport 2022 เดินทางไกลดีไหม

ในการทดสอบขับรถไฟฟ้าเดินทางไกลครั้งนี้ เราเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า BMW iX3 M Sport ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จากค่าย BMW โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีพื้นฐานมาจากรถยนต์สันดาป โดยในตัวถังนี้ถูกนำไปใช้งานทั้งเครื่องยนต์ดีเซล, เครื่องยนต์เบนซิน รวมไปถึงระบบไฮบริด และระบบไฟฟ้าเลย เรียกได้ว่าเป็นตัวถังที่มีประเภทการใช้พลังงานหลากหลายมากๆ

 

 

BMW iX3 M Sport โดดเด่นด้วยความเป็นรถยนต์ SUV พิกัด C-Segment ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าพลัง 286 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และไฮไลท์สำคัญนั้นคือ "แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน" ความจุสูงมากถึง 80 kWh แต่จะสามารถใช้งานจริงได้ที่ 74 kWh มีประสิทธิภาพการชาร์จแบบ DC สูงสุดถึง 150 kW เรียกได้ว่ารองรับตู้ชาร์จด่วนพลังสูงๆ ในบ้านเราได้ทั้งหมดครับ

 

 

วางแผนขับรถไฟฟ้าเดินทางไกลยังไง

1. รู้จักรถตัวเอง

การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางไกล ไม่ให้เสี่ยงกินข้าวลิงนั้น ควรมีปริมาณแบตเตอรี่เหลือก่อนถึงปลายทางอย่างน้อย 5-10 % เผื่อว่าตู้ชาร์จมีปัญหา และเราต้องหาตู้ชาร์จใกล้เคียงมาทดแทน แต่ถ้าแบบปลอดภัยสุดๆ ทุกครั้งที่เราจอดรถแวะพัก ควรจอดในจุดที่มีที่ชาร์จเสมอ เพื่อใช้เวลาพักตัวคนและได้ชาร์จไฟฟ้าเข้าตัวรถด้วย

โดยระยะทางวิ่งของรถต่อ 1 การชาร์จ เป็นสิ่งที่เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าควรทราบดีว่ารถยนต์ไฟฟ้าของคุณ มีระยะทางขับขี่ไกลสุดเท่าไหร่ ณ แบตเตอรี่เต็ม 100% และจะวิ่งได้สักเท่าไหร่ ถ้าใช้แบตเตอรี่ไป 1%

กล่าวคือ หากรถยนต์ไฟฟ้าของคุณ เมื่อแบตเตอรี่เต็ม 100% สามารถขับได้ 400 กม. ก็พออนุมานได้ว่า ปริมาณแบตเตอรี่ 1% สามารถขับได้ 4 กิโลเมตร นั่นเองครับ

 

แบตเตอร์รี่ BMW iX3

 

2. กำหนดจุดชาร์จก่อนเดินทาง

ใช้แอป Plug Share ช่วยหาจุดชาร์จ หรือใช้แอป ผู้ให้บริการสถานีชาร์จ ในการวางจุดชาร์จ/จุดแวะพัก ได้ แนะนำให้วางจุดชาร์จให้เป็นจุดเดียวกับที่เราพักรถ

แอป Plug Share

แอป PTT EV

 

การขับรถเดินทางไกล ไม่ว่าจะเป็นรถแบบใด เราก็ต้องวางแผนการเดินทางอยู่แล้ว จากเดิมเราอาจจะแพลนกว้างๆ ว่า แวะจอดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ลำปาง แล้วเข้าเชียงใหม่ ที่สามารถทำได้ก็เพราะว่า "ปั้มน้ำมัน" หาได้ง่ายนั่นเอง

แต่รถยนต์ไฟฟ้านั้น ณ ปัจจุบันนี้สถานีชาร์จ "มีเยอะ แต่ยังไม่เท่าปั้มน้ำมัน" เราจึงจำเป็นต้องกำหนด "จุดแวะ" แบบเฉพาะเจาะจงไปเลยว่าต้องแวะตรงไหน ซึ่งการแวะของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างที่เราได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น

กรุงเทพ - เชียงใหม่ จุดชาร์จ

ในส่วนของจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กับการขับเส้นทางกรุงเทพ - เชียงใหม่ เรากำหนดคร่าวๆ ว่าจะใช้เวลาในการขับขี่ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง จะจอดแวะ 1 ครั้ง ซึ่งเราจะเลือกสถานีชาร์จที่อยู่ในฝั่งขาขึ้นเท่านั้น จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาในการกลับรถนั่นเอง โดยจุดชาร์จจากกรุงเทพ - เชียงใหม่ ที่เราใช้งานมีทั้งหมด 3 จุดด้วยกัน โดยรายละเอียดการเดินทางของทริป เป็นดังนี้

ออกเดินทาง 12.06 น. ณ ปั้มน้ำมัน SUSCO สาขาเสนานิเวศน์ ด้วยปริมาณแบตเตอรี่ 95%

 


จุดชาร์จ
1. PTT นครสวรรค์ ขาออก PTT NGV Service Station https://goo.gl/maps/bHyFzQkL5k8fJyhK8

เป็นจุดที่ผมแวะเข้าห้องน้ำ และซื้อเครื่องดื่ม ระยะทางจากกรุงเทพ 210 กม. และใช้เวลานี้ในการชาร์จแบตรถไปด้วย โดยมีแบตเตอรี่เหลือ 43% ใช้เวลาชาร์จ 30 นาที ขึ้นมาเป็น 80% แล้วไปต่อ

โดยการขับขี่จากจุดเริ่มต้นถึงจุดนี้ เราใช้ความเร็วยืนพื้นที่ 120 กม./ชม.

รถคันนี้ รับพลังงานไฟฟ้าเข้าที่ 70-75 kW

 


2. PTT กำแพงเพชร ธรรมรัตน์ ปิโตรเลียม https://goo.gl/maps/jhVeywDytoMpCAGeA

เป็นจุดที่ผมแวะเข้าห้องน้ำ และซื้อของว่างมาทานบนรถ และใช้เวลานี้ในการชาร์จแบตรถไปด้วย โดยมี ระยะทางจากกรุงเทพ 335 กม. แบตเตอรี่เหลือ 50% ใช้เวลาชาร์จ 16 นาที ขึ้นมาเป็น 85% แล้วไปต่อ

โดยการขับขี่จากจุดเริ่มต้นถึงจุดนี้ เราใช้ความเร็วยืนพื้นที่ 90 กม./ชม. และมีเร่งแซงบางจังหวะ

 

 


3. PTT เถิน ขาออก https://goo.gl/maps/bdvQCXrJVtFBx4SX9

จุดนี้ผมใช้เวลาแวะรับประทานอาหารเย็น เข้าห้องน้ำ และเป็นจุดที่ชาร์จรถจริงจังจุดแรกอย่างแท้จริง เพราะระยะทางที่ต้องขับต่อนั้นไกลกว่าทุกระยะที่ผ่านมา และต้องขึ้นเขายาวๆ โดยจุดนี้ มีระยะทางจากกรุงเทพ 492.1 กม. แบตเตอรี่คงเหลือ 33% ใช้เวลาชาร์จ 40 นาที ขึ้นมาเป็น 85% ออกเดินทางต่อ ณ เวลา 19.15 น.

โดยการขับขี่จากจุดเริ่มต้นถึงจุดนี้ เราใช้ความเร็วยืนพื้นที่ 90 กม./ชม. และมีเร่งแซงบางจังหวะ

 


4. ถึงเชียงใหม่ ณ ป้ายยินดีต้อนรับสู่เชียงใหม่ ณ เวลา 21.02 น. ใช้เวลาเดินทางรวมทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง 56 นาที ระยะทางรวมทั้งหมด 660 กม. แบตเตอรี่คงเหลือ ณ จุดเข้าเขตเชียงใหม่ที่ 36% สามารถขับต่อได้อีก 119 กม.

โดยการขับขี่จากจุดเริ่มต้นถึงจุดนี้ เราใช้ความเร็วยืนพื้นที่ 90 กม./ชม. และมีเร่งแซงบางจังหวะ โดยพยายามรักษาความเร็ว 90 กม./ชม. ตลอดระยะทางการขับขี่ขึ้นดอยขุนตาล

“เวลาในการเดินทางคร่าวๆ คือ 9 ชั่วโมง ทั้งนี้เราไม่ได้มีจุดประสงค์ในการวัดเวลาการเดินทางอย่างแม่นยำหลักหน่วยนาที เพียงนำเสนอข้อมูลด้านการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไกลข้ามจังหวัดยาวๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อการเดินทางแบบเดิมหรือไม่”

 

 

อย่าลืม หาที่ชาร์จสำรอง

ฝันร้ายที่สุดของวัยรุ่น EV นั่นคือ "ตู้ชาร์จมีปัญหา" อารมณ์เหมือน "ปั้มน้ำมันไฟดับ" แล้วเราจะเติมน้ำมันไม่ได้ เหมือนกันเลยครับ โดยเหตุปัจจัยที่ทำให้ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีปัญหานั้น มี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

1. ปัญหาจากสถานที่ชาร์จ เช่นไฟดับ / ปิดให้บริการ / นอกเวลาทำการ เป็นต้น
2. ปัญหาจากตัวระบบตู้ชาร์จ นานๆ ทีจะเจอตู้ชาร์จมีปัญหา อันนี้โอกาสเจอน้อยครับ
3. แอปฯ ของตู้ชาร์จ มีปัญหา จุดนี้ก็เป็นปัญหาที่มีโอกาสเจอน้อย แต่ก็เจอได้

จาก 3 เหตุผลข้างต้นนั้น เราจึงจำเป็นต้องหาตู้ชาร์จสำรองครับ โดยตู้ชาร์จสำรองนั้นท่านสามารถพิจารณาเลือกได้จากแอปฯ Plug Share หรืออาจจะเลือกจากแบรนด์ตู้ชาร์จที่ท่านใช้ประจำได้เลยครับ โดยสำหรับการเดินทางไกลแล้ว เราขอแนะนำอยู่ 2 เจ้า ได้แก่

1. ElexA เป็นตู้ชาร์จพลังสูงถึง 120 kW ชาร์จเร็วมากไม่ต่างจากตู้ชาร์จของ PTT EV ครับ แต่จะมีหัวชาร์จให้บริการเฉพาะแบบ CCS2 เท่านั้น โดยพบได้ตามปั้มน้ำมัน PT

ElexA คิดค่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยละ 7.5 บาท

2. PEA Volta เป็นตู้ชาร์จที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศ ณ ขณะนี้ ด้วยเครือข่ายตู้ชาร์จที่กระจายตัวไปตามปั้มน้ำมันบางจาก ข้อดีคือมีตู้ชาร์จหลายที่มากๆ และมีหัวชาร์จถึง 3 แบบ ได้แก่ AC Type 2, CCS2 และ CHAdeMO ส่วนข้อเสียคือความเร็วในการชาร์จอยู่ที่ 50 kW ซึ่งถือว่าน้อยไปหน่อย สำหรับการขับรถทางไกลครับ

ดังนั้นแล้ว การจัดลำดับความสำคัญของตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้น เราขอให้ท่านเลือกจากตู้ที่มีความเร็วในการชาร์จสูงไปหาต่ำ
PEA Volta คิดค่าบริการ 2 เรท ได้แก่ช่วง Off Peak หน่วยละ 4.3451 บาท และ On Peak หน่วยละ 7.7276

ส่วนตู้ชาร์จที่เราแนะนำมากที่สุด นั่นคือฝั่งของ PTT EV เนื่องจากมีหัวชาร์จทุกรูปแบบการใช้งาน, ตู้รองรับการชาร์จ CCS2 ได้เร็วสูงสุดถึง 120 kW และที่สำคัญที่สุด จุดเด่นของปั้มน้ำมันเครือ PTT นั่นคือ ร้านค้า, ร้านอาหาร, ร้านสะดวกซื้อ ภายในศูนย์บริการนั้น เค้ามีเยอะจริงๆ ครับ

 

 

 

ขับรถไฟฟ้า ขึ้นเขา กินไฟไหม?

รถยนต์ทุกประเภทที่ขับขึ้นทางชัน เป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่จะต้องใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น เพื่อเรียกกำลังในการไต่ขึ้นเนิน รถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจะใช้กำลังมากขึ้น บริโภคพลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเป็นกำลังในการขับเคลื่อนขึ้นทางลาดชัน ซึ่งแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้านั้นสามารถเรียกให้มาได้ทันที ไม่มีการรอรอบแบบรถสันดาปแต่อย่างใด ทำให้การไต่ขึ้นเนินนั้นทำได้ง่ายมาก

โดยอัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า ขณะขับขึ้นเนินนั้นจะมากกว่าการขับบนทางเรียบราวๆ 2 - 5 เท่าเลยทีเดียว แล้วแต่ความหนัก-เบา ของการใช้คันเร่ง

 

 

แต่สิ่งที่รถสันดาปไม่สามารถทำได้แน่นอน 1,000,000 % นั่นคือ "การเรียกคืนพลังงานไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่" แปลภาษาบ้านๆ นั่นคือ "ชาร์จไฟฟ้ากลับได้" ในขณะที่ขับลงจากทางลาดชันนั่นเอง โดยปกติแล้วรถยนต์ไฟฟ้า หากเราใช้โหมด One Pedal และยกคันเร่ง ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำการหน่วงความเร็วลดลง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่

และยิ่งเป็นทางลงเขาแล้ว รถไฟฟ้าจะชอบมากๆ เพราะมันสามารถชาร์จแบตเตอรี่เข้าสู่ตัวรถได้อย่างมหาศาลเลย โดยกำลังการชาร์จไฟฟ้ากลับจากแรงหน่วงของมอเตอร์ขับเคลื่อนนั้น มีกำลังไม่ต่างจากการชาร์จด้วยตู้ DC สาธารณะเลยครับ

ส่งผลให้การขับรถไฟฟ้าลงเขานั้น สามารถทำให้ "ได้ระยะทางขับขี่เพิ่มขึ้น" จากปริมาณแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นมาจากการปั่นไฟฟ้ากลับนั่นเองครับ

 

แอพฯ ที่ควรมีสำหรับรถไฟฟ้า

1. Plug Share แอปฯ ค้นหาตู้ชาร์จ
2. แอปฯ ผู้ให้บริการตู้ชาร์จ ได้แก่ PTT EV, PEA Volta, ElexA, EA Anywhere, SHARGE ฯลฯ

 

 

สรุป รถยนต์ไฟฟ้า เดินทางไกลได้ไหม

โดยสรุปแล้วรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเดินทางไกลได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ เรายังขอแนะนำให้วิ่งในเส้นทางสายหลักก่อนครับ โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างหัวเมืองใหญ่ บอกเลยว่าแทบไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนตู้ชาร์จอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสายหลักอย่างกรุงเทพ - เชียงใหม่ ที่มีตู้ชาร์จ DC เยอะมากๆ ครับ หากท่านรู้จักรถตนเองดีพอแล้ว ขอแนะนำให้พารถยนต์ไฟฟ้าของท่านไปเดินทางไกลดูสักครั้ง และท่านจะรักมันมากกว่าเดิม

 

รถยนต์ไฟฟ้าแบบไหน เดินทางไกลได้?

รถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับการขับเดินทางไกล เอาแบบว่าไปได้แน่นอนทุกเส้นทาง ไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณแบตเตอรี่คงเหลือ และสามารถทำระยะเวลาการขับขี่ได้ไม่ต่างจากการใช้รถยนต์สันดาปแบบเดิม รถยนต์ไฟฟ้าควรมีสเป็คดังนี้

แบบไปได้แน่ในแทบทุกเส้นทาง ใช้เวลาไม่ต่างจากรถสันดาป

1. ปริมาณแบตเตอรี่ ควรมีความจุมากกว่า 60 kWh
2. ความสามารถรับการชาร์จด้วย DC Fast Charge ควรมีกำลังมากกว่า 60 kW ขึ้นไป ยิ่งขึ้นหลัก 100 kW ขึ้นไป ยิ่งดี
3. มอเตอร์ขับเคลื่อนที่มีกำลังแรงบิดสูงกว่า 300 นิวตันเมตร สื่อถึงขนาดของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่นั่นเอง ยิ่งมอเตอร์ใหญ่ แบกน้ำหนักตัวรถได้สบายๆ จะช่วยทำให้มอเตอร์ไม่ต้องทำงานเต็มกำลัง ส่งผลให้มอเตอร์ไม่ร้อนจนเกินไป
4. ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่และมอเตอร์ขับเคลื่อน ต้องเป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือเหนือกว่า เท่านั้น

 

แบบไปได้ในหลายเส้นทาง ใช้เวลามากกว่ารถสันดาปเล็กน้อย

1. ปริมาณแบตเตอรี่ ควรมีความจุมากกว่า 40 kWh
2. ความสามารถรับการชาร์จด้วย DC Fast Charge ควรมีกำลังมากกว่า 60 kW ขึ้นไป ยิ่งขึ้นหลัก 100 kW ขึ้นไป ยิ่งดี
3. มอเตอร์ขับเคลื่อนที่มีกำลังแรงบิดสูงกว่า 150 นิวตันเมตร แต่ไม่เกิน 250 นิวตันเมตร ควรระมัดระวังเรื่องความร้อนของมอเตอร์ อาจเกิด "ไฟเต่า" ได้ (ไฟเต่า คือโหมดป้องกันความเสียหายกับระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ไฟฟ้า)

 

 

รถยนต์ไฟฟ้าแบบไหน ไม่ควรใช้งานทางไกล

รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ที่ไม่รองรับการชาร์จด้วย DC Fast charge มาตรฐาน CCS2 หรือ CHAdeMO ไม่ควรใช้เดินทางไกลทุกกรณี เพราะว่าหากไม่สามารถชาร์จ DC ได้ จะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานเกินไป (ชาร์จนานกว่าเวลาที่ขับได้ซะอีก)

 

Autospinn เว็บไซต์รายงานข่าวรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ เช็กวันเปิดตัวรถใหม่ ราคารถ ตารางผ่อน และรีวิวรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยทีมงานมืออาชีพ
ซื้อ-ขาย รถมือสอง ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยชัวร์ ต้องที่ ตลาดรถ One2car

 


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ