ปัญหาหลักของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คืออะไร? Share this
Electric Vehicle EV
โหมดการอ่าน

ปัญหาหลักของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คืออะไร?

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 17 August 2566

รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย แต่ก็ยังมีเรื่องที่ยังคงเป็นข้อคาใจหลักอันส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่สามารถทดแทนรถยนต์สันดาปได้ในทุกมิติ ซึ่งสิ่งนั้นคือเรื่อง "การชาร์จแบตเตอรี่"


ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รถ แต่อยู่ที่การชาร์จ

ปัญหาของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มิได้อยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด เพราะรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นรถที่จัดจำหน่ายในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ รุ่นในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วว่าใช้งานได้เป็นอย่างดี

ทว่า สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ราบรื่นไม่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปนั่นคือ "โครงข่ายสถานีชาร์จ" ซึ่งมันจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการนำพารถยนต์ไฟฟ้าให้เดินทางไปได้ไกลมากขึ้น เข้าถึงหลากหลายพื้นที่มากยิ่งขึ้น

เพียงแค่สถานีชาร์จ EV จุดเดียว ก็สามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ไกลขึ้นกว่า 300 กิโลเมตรเลยทีเดียว ยิ่งถ้าเป็นการตั้งสถานีชาร์จจุดแรกในโซนนั้นๆ ก็จะเป็นการดึงดูดให้ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย

 

 

รถยนต์ไฟฟ้า บูม แต่ไม่สุด

เมื่อเรามองดูตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นอันชัดเจนมากๆ ว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในบ้านเรา ทว่าตัวเลขที่เราเห็น ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เราเห็นบนท้องถนน ถ้าว่ากันตามตรงแล้วผู้ใช้งานกลุ่มเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ยังเป็นกลุ่ม "ผู้บุกเบิก" ทั้งสิ้น เพราะเอาเข้าจริงแล้วถ้าจะใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้สะดวกที่สุดสำหรับประเทศไทย ยังอยู่ในรูปแบบการ "ชาร์จที่บ้าน"

สาเหตุหลักที่ EV ในไทยยังไม่บูมพอนั่นคือเรื่องความกังวลด้านสถานีชาร์จรายทาง โดยในฐานะที่เราเองก็เป็นผู้ใช้จริง ก็ยอมรับว่ามันคือ "เรื่องจริง"

 

ยอดจดทะเบียนรถ EV มิถุนายน 2566

 

สถานีชาร์จ มีทั่วประเทศ แต่หัวชาร์จมีน้อย

แม้ว่าสถานีชาร์จจะมีการขยายออกไปทั่วประเทศครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะ "เพียงพอ" กับทุกๆ วัน มันเป็นเรื่องจริงที่ว่าในวันปกติของสถานีชาร์จตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะสถานีที่อยู่ตามถนนสายหลักที่ใช้เป็นทางผ่านไปจังหวัดอื่นๆ มักจะมีรถเข้ามาชาร์จค่อนข้างน้อย โดยในแต่ละวันอาจมีรถเข้ามาแค่หลักหน่วย จึงไม่แปลกนักที่หลายๆ สถานีชาร์จ จะติดตั้งเครื่องชาร์จไว้เพียง 1-2 เครื่อง รองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกันได้ราวๆ 2-4 คัน

 

 

ย้อนกลับไปช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เราก็พอเห็นปัญหากันแล้วว่า ในการขับรถยนต์ไฟฟ้าออกต่างจังหวัดนั้น เราต้องไปต่อคิวชาร์จรถที่สถานีชาร์จกัน เนื่องจากหลายๆ คนก็เลือกนำเอารถยนต์ไฟฟ้าขับออกต่างจังหวัด เพราะต้นทุนค่าเดินทางนั้นต่ำกว่ารถยนต์สันดาปอย่างมหาศาล

ทว่า สถานีชาร์จที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มันมีจำนวน "หัวชาร์จ" ไม่เพียงพอต่อปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังใช้เส้นทาง โดยเฉพาะจุดแวะพักรถตามจังหวัดใหญ่รายทางต่างๆ เรามักจะพบเห็นภาพรถยนต์ไฟฟ้าจอดรอคิวชาร์จกันเป็นเรื่องปกติในช่วงวันหยุด ยิ่งสถานีชาร์จที่สามารถจองได้ เราจะเห็นได้ว่าคิวจองนั้นเต็มตลอดทั้งวัน ว่างอีกทีตอนตี 3 ซึ่งก็มีน้อยคนมากๆ ที่จะขับรถมาชาร์จในช่วงเวลาดังกล่าว

ซึ่งในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มันไม่ได้รวดเร็วแบบการเติมน้ำมันที่ใช้เวลา 5 นาที/คัน แต่รถยนต์ไฟฟ้าใช้เวลาถึง 30 นาที/คัน ขึ้นไป ไหนจะต้องมีเวลารอชาร์จเข้ามาอีก ส่งผลให้การเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าช่วงเทศกาล หากวางแผนเรื่องสถานีชาร์จสำรองมาไม่ดี และจำเป็นต้องจอดรอชาร์จ ก็จะทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก

 

 

ในต่างประเทศ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มักจะมีหัวชาร์จ DC รองรับได้โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 6 คัน ไปจนถึงหลายสิบคันเลยทีเดียว เพื่อให้มันสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่พร้อมกัน และได้เติมไฟฟ้าไปพร้อมกันได้เลยโดยแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องการจอดรอ

เอาเข้าใจ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จล้วนแล้วแต่มีข้อมูลว่าสถานีไหนมีรถเข้ามาชาร์จเยอะๆ บ้าง แต่สุดท้ายก็ไปตีเฉลี่ยกับช่วงที่คนใช้น้อยด้วย ผลก็เป็นออกมาอย่างที่เราเห็นว่า มันมักจะมีแค่ 2-4 หัว / สถานี เท่านั้น

 

 

ความเร็วในการชาร์จรถ EV

ความเร็วในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยโดยตรงต่อระยะเวลาการชาร์จเลยทีเดียว โชคยังดีที่ประเทศไทยมักจะใช้ตู้ชาร์จที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงเกิน 80 kW โดยส่วนใหญ่ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นยอดนิยมมักจะใช้เวลาชาร์จจาก 30-80% ภายในระยะเวลา 30 นาทีกันอยู่แล้ว ทว่าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแทบจะทุกแห่งทั่วประเทศล้วนแล้วแต่ใช้ไฟฟ้าในระบบ Low Priority

 

สถานีชาร์จส่วนใหญ่มักจะมีหัว DC ชาร์จด่วนแค่ 2 หากรถมามากกว่า 2 คัน จำเป็นต้องรอคิว

 

Low Priority ควรแก้ไขได้แล้ว

Low Priority คือ การใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า อันมีความสำคัญเป็นลำดับรอง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์อื่น สามารถถูกควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ เมื่อมีข้อจำกัดด้านความจุไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

โดยค่าไฟฟ้าอัตรา Low Priority จะอยู่ที่หน่วยละ 2.6369 บาท + ค่าบริการรายเดือน 312.24 บาท และค่า FT ซึ่งเปรียบเสมือนว่าสถานีชาร์จ EV จะได้ใช้ไฟฟ้าในอัตรา TOU Off Peak ตลอดเวลา แต่ต้องแลกมากับการโดยปรับลดกำลังของสถานีชาร์จบ่อยครั้ง ซึ่งมักจะพบปัญหานี้ได้กับเขตเมือง

ซึ่งส่งผลให้ รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาชาร์จในช่วงเวลานี้ จะถูกปรับลดกำลังไฟลง จากปกติรับอยู่ 80 kW จะถูกลดเหลือไประดับ 30 kW หรือต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลให้ใช้เวลาการชาร์จยาวนานนับชั่วโมงเลยทีเดียว อันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

เหตุนี้ ทั้งหมดก็ตามที่การไฟฟ้าให้เหตุผลมานั้นคือ "เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า" หรือแปลง่ายๆ ก็คือ สถานีชาร์จใช้ไฟเยอะจนกระทบความสามารถในการจ่ายไฟฟ้านั้นเอง ซึ่งแปลว่าระบบไฟฟ้านั้นไม่ได้รองรับกับการมีอยู่ของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากขนาดนั้น

ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ทางผู้รับผิดชอบ ต้องอัพเกรดระบบสายส่งไฟฟ้าให้สามารถรองรับกับการมีอยู่ของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะ ณ ปัจจุบัน 1 ตู้ชาร์จมักจะมีแค่ 2-4 หัวชาร์จ แต่ในอนาคต ในวันที่รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นยานพาหนะปกติที่ใช้กันทั่วไป มันต้องสามารถรองรับจำนวนรถที่มากขึ้นกว่านี้ได้ ซึ่งต้องสอดคล้องทั้งตัวสถานีชาร์จ และโครงข่ายไฟฟ้า

 

Low Priority

 

รถชาร์จเร็วได้ ไม่ได้แปลว่าเร็วจริง

ด้วยความที่สถานีชาร์จเมืองไทย ใช้ไฟฟ้าแบบ Low Priority และมักจะจ่ายไฟฟ้ามาแถวๆ 30-40 kW โดยเฉพาะช่วงกลางวัน ต่อให้คุณใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่รองรับการชาร์จได้แรงแค่ไหน เทคโนโลยีแบตเตอรี่คุณสุดยอดมากแค่ไหน อาจจะรับไฟได้สูงสุด 270 kW ไปเลย แต่ถ้าสถานีชาร์จปล่อยมาแค่นั้น คุณก็จะรับไฟได้แค่นั้นอยู่ดี

สุดท้ายแล้ว การที่รถยนต์ไฟฟ้าจะบูมในไทยมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศล้วนๆ ว่าจะสามารถรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในปริมาณที่มากกว่านี้ได้เพียงใด ซึ่งนี่เรายังอยู่ในยุคเริ่มต้นของมันเท่านั้น ด้วยสัดส่วนปริมาณรถยนต์ไฟฟ้ายังน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป หากวันใดที่มันมีมากขึ้นเป็นหลัก 10% ด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมนี้ ผมว่ามันน่าจะเกิดความวุ่นวายมากพอควร หากยังไม่มีการปรับแก้ตามหัวข้อที่เราได้พูดถึงในบทความนี้

ในวันนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นยานพาหนะทางเลือก แต่วันหน้าเมื่อมันเป็นยานพาหนะทางหลักเมื่อใด สถานีชาร์จ EV ไม่ควรเป็น Low Priority ครับ

 

อัปเดตข่าวรถยนต์ ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสอง ทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car


คำนวณค่างวดรถเบื้องต้น
Use the calculator to calculate the installment of your dream car
ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้
อัตราการผ่อนชำระ (เดือน)
บาท
จำนวนงวด (เดือน)
สนใจขอสินเชื่อรุ่นนี้
* ราคาค่างวดรวม VAT แล้ว สำหรับพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในการซื้อขายได้

ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ